posttoday

"ปีติพงศ์"เร่งระงับข้อพิพาทสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

20 มีนาคม 2558

“ปีติพงศ์” ส่งสองกรมหารือสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ระงับข้อพิพาทสมาชิกกับกรรมการ

“ปีติพงศ์” ส่งสองกรมหารือสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ระงับข้อพิพาทสมาชิกกับกรรมการ

นายปีติพงศ์  พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เข้าไปช่วยสนับสนุนข้อมูลเพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูหรือสิ่งที่คณะกรรมการสหกรณ์ร้องขอ   ภายหลังที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษาคดีให้มีการฟื้นฟูกิจการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น โดยให้ยึดตามอำนาจหน้าที่ ที่ภาครัฐจะกระทำได้  เพราะหลังจากนี้การทำงานของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจะไปเป็นตามคำสั่งศาล  อย่างไรก็ตามสิ่งที่กระทรวงเป็นห่วงคือผู้ฝากรายเล็กรายย่อยว่า สหกรณ์จะดูแลอย่างไรเพราะเงินส่วนหนึ่งก็ได้กลับคืนมาบ้างแล้ว

“ในส่วนของข้อพิพาทระหว่างคณะกรรมการชุดที่ 30 และสมาชิกสหกรณ์ ซึ่งไม่รู้จะเกิดขึ้นหรือไม่ ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ เข้าไปช่วยไกล่เกลี่ย เพื่อให้ไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินงาน    กระทรวงต้องเป็นคนกลางที่ไม่เข้าข้างฝ่ายใด     และเท่าที่ตรวจสอบสถานะการเงินและสภาพคล่องของทั้ง 76 สหกรณ์ที่เอาเงินไปฝากกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ก็ยังมีสภาพคล่องที่สามรถดูแลสมาชิกได้ เพราะฉะนั้นขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก สหกรณ์ทั่วไปยังเข็มแข็งระบบเงินหมุนเวียนยังดี  ซึ่งมูลค่าสหกรณ์  2.2 ล้านล้านบาท มูลค่าธุรกิจของสหกรณ์เครดิตคลองจั่นเพียง  0.5 % เท่านั้น ” นายปีติพงศ์กล่าว

ทั้งนี้ รมว.เกษตร ฯยืนยันว่าขอให้เชื่อมั่นระบบสหกรณ์ เพราะโดยสหกรณ์ออมทรัพย์ของประเทศยังเข้มแข็ง  ระบบเงินหมุนเวียนยังดี   ซึ่งที่ผ่านมามีการเสนอหลายด้านเช่นสหกรณ์ออมทรัพย์ ควรจะไปอยู่กับกระทรวงการคลังที่มีความชำนาญมากกว่า ในขณะที่สหกรณ์การเกษตร ก็ให้กระทรวงเกษตรฯดูแลต่อ ดังนั้นขณะนี้ให้ไปศึกษาว่าอะไรจะเป็นประโยชน์กว่าหรือไม่

นายปีติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับการสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบสหกรณ์ในระยะยาวซึ่งได้มีนโยบายที่ชัดเจนตั้งแต่ก่อนจะมีคำสั่งศาล ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ไปวางระบบการเตือนภัยเพื่อป้องกันความเสียหายให้แก่สหกรณ์อื่นๆ  การสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นให้ได้โดยเร็วที่สุด และทำเป็นระเบียบให้ชัด และที่สำคัญในระยะเร่งด่วนที่กระทรวงเกษตรฯ กำลังผลักดัน คือการยกร่างแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 เพื่อให้การดำเนินงานของสหกรณ์มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น  ซึ่งที่สำคัญคือการให้อำนาจเข้าไปตรวจสอบ และการเข้าไปดูแลคนภายนอกที่จะเข้าทำให้สหกรณ์มีปัญห า ซึ่งกฎหมายเดิมไม่ให้อำนาจ จนทำให้เกิดความเสียหาย โดยเพิ่มกระบวนการตรวจสอบ โดยให้อำนาจเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ สามารถเข้าถึงข้อมูล และมีอำนาจในการตรวจสอบสหกรณ์ที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลเพิ่มขึ้น รวมถึงการวางระบบเงินสำรองของสหกรณ์ที่ตามกฎหมายให้สำรองไม่น้อยกว่า  10% ของกำไรสุทธิการเงินของสถาบันนั้น  ซึ่งจะกำหนดให้เป็นเงินที่ต้องกันออกมาให้ชัด ไม่ใช่สำรองในบัญชีเหมือนที่ผ่านมา  เพื่อให้สามารถช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของระบบสหกรณ์ และสามารถใช้เงินกองทุนนี้แก้ปัญหาต่างๆ ได้ทันที ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 1 สัปดาห์ และจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อนำเสนอในการแก้ไขกฎหมายต่อสภาฯ และมีผลบังคับใช้โดยเร็ว

 ทั้งนี้รมว.เกษตรฯ เรียกร้องให้ประชาชนที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์ มีการตรวจสอบกรรมการบริหารให้มากขึ้น และอย่ามุ่งแต่ผลประโยชน์ที่จะได้รับตอบกลับมา ซึ่งจิตสำนึกของสหกรณ์ที่สมาชิกช่วยกันทำ ช่วยกันพัฒนา เป็นสิ่งที่สมาชิกสหกรณ์ต้องเรียกกลับคืนมา