posttoday

ปั้นคนรุ่นใหม่ เขียนโค้ด หนุนพัฒนาไอที

16 มีนาคม 2558

การที่ภาคเอกชนสนับสนุนการทำระบบไอที เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับระบบโค้ดดิ้งมากขึ้น จะยิ่งขยายโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่

โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ

เรื่องของโค้ดดิ้ง (Coding) ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญของการเขียนระบบซอฟต์แวร์ในการทำงาน การที่เรามีเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตให้ใช้งานกันแบบทุกวันนี้ ต้องมีระบบหลังบ้านในการสั่งงานทั้งสิ้น ซึ่งทางไมโครซอฟท์ผู้ผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์รายใหญ่ของโลก ก็ได้ผลักดันโครงการ #Wespeakcode เพื่อให้ “โค้ด” เป็นภาษาที่สองของเมืองไทย

ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุ๊คบี เปิดเผยว่า สมัยก่อนไม่ได้มีการสอนพวกระบบซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่มากมายเหมือนในปัจจุบัน คนที่สนใจจะเรียนก็ต้องขวนขวายหาที่เรียนเอง ทำให้คนที่สนใจจะเรียนโค้ดต้องหาอ่านจากหนังสือหรือเว็บไซต์ต่างประเทศ

“ในช่วงแรกของการทำงานและพัฒนาธุรกิจ ผมต้องศึกษาเรื่องของโค้ดในการเขียนระบบหลังบ้านอย่างมาก แต่โชคดีที่ภาษาโค้ดนั้นเป็นภาษาที่คนทั้งโลกเข้าใจตรงกัน อีกทั้งการทำงานในโลกดิจิทัลสามารถสื่อสารกันได้เข้าใจ ไม่ว่าจะอยู่แห่งใดในโลก โดยโปรแกรมเมอร์จะมี Tech Forum เพื่อแชร์ข้อมูลกันถือว่าช่วยให้โปรแกรมเมอร์ทำงานพัฒนาระบบต่างๆ ได้ดีขึ้น” ณัฐวุฒิ กล่าว

คนรุ่นใหม่ที่ต้องการศึกษาภาษาโค้ดนั้น ไม่จำเป็นต้องเรียนจากในห้องเรียนเท่านั้น ไม่ว่าเราจะเรียนจบในสายงานใดมา แต่ถ้ามีความสนใจก็สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ทั้งสิ้น ไม่จำเป็นต้องเรียนด้านนี้โดยตรง การเข้าโครงการวีสปีกโค้ดก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยเหลือโปรแกรมเมอร์หรือคนที่มีความสนใจ ให้หันมาทำงานในสายไอทีมากขึ้น เพราะการเติบโตของอุปกรณ์ไอทีนั้น เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สวนทางกับอัตราคนทำงานที่มีอยู่อย่างจำกัด เพราะคนที่เรียนจบสายไอทีเอง ก็แตกสายไปทำงานด้านอื่นๆ มากขึ้น

กษิดิส อรุณเรืองศิริเลิศ หนึ่งในเด็กที่เคยผ่านเวทีการประกวดเขียนโค้ดและพัฒนาแอพพลิเคชั่น ด้วยวัยเพียง 13 ปี ได้เล่าถึงความสนใจในการเขียนโค้ดให้ฟังว่าตอนอายุ 1 ปีครึ่ง คุณแม่ได้ซื้อ Jumpstart มาให้เล่น และทดลองแกะออกมาเรียนรู้ด้านระบบการทำงานต่างๆ จากนั้น เมื่ออายุ 3 ปี ก็เริ่มอ่านหนังสือเกี่ยวกับภาษา C++ และตอนอายุ 10 ขวบ ก็ได้ไปเรียนระบบโค้ดที่โรงเรียนสอนพิเศษอย่างเป็นทางการ

“ผมชอบที่จะเรียนเรื่องโค้ดมากที่สุด หลังจากทดลองเรียนด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิกควบคู่ไปด้วย ผมก็เร่งพัฒนาฝีมือด้านนี้อย่างเต็มที่ และได้เข้าแข่งขันทำ Javascript ตลอด 36 ชั่วโมง ของแบล็กเบอรี่แจม เมื่อปี 2555 และได้รับรางวัลมาครับ จากนั้นก็ได้เข้าร่วมประกวดโครงการสตาร์ทอัพของดีแทค แอคเซเรเลต”กษิดิส กล่าว

การเข้าประกวดดีแทค แอคเซเรเลต ถือว่าเป็นครั้งแรกของกษิดิสที่ได้เข้าใจถึงคำว่า สตาร์ทอัพ อย่างแท้จริง ซึ่งครั้งนั้นยอมรับว่าก่อนการเข้าประกวดยังไม่มีความเข้าใจว่า สตาร์ทอัพ ว่าคือสิ่งใด ทำงานแบบใด เพราะสตาร์ทอัพ ไม่ใช่แค่เขียนโค้ดแต่ต้องมีแผนธุรกิจ คอนเซ็ปต์การใช้งานและการออกแบบที่ชัดเจน ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ

“หลังจากครั้งนั้น ผมได้ปรึกษากับคุณณัฐวุฒิและคุณเรืองโรจน์ พูนผล เกี่ยวกับการปรับแผนงาน พบว่า ต้องเตรียมความพร้อมให้มากขึ้น จากนั้นผมก็ได้เข้าประกวดทรู อินคิวบ์ และสร้างแอพในโครงการ ทำแอพเพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งทำเป็นสไลด์แสดงภาพเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้คนแชร์ภาพก่อนทำสไลด์โชว์ จนได้รับรางวัลที่ 1 จากโครงการประกวดของซอฟต์แวร์พาร์ค”กษิดิส กล่าว

ทั้งนี้ การที่ภาคเอกชนสนับสนุนการทำระบบไอที เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับระบบโค้ดดิ้งมากขึ้น จะยิ่งขยายโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่ และผู้ที่สนใจเข้ามาทำงานในสายไอทีเพิ่มรองรับอัตราการเติบโตของยุคโมบิลิตี้ให้มากขึ้นเช่นกัน