posttoday

‘เชื้อดื้อยา’ คุกคามโลก หายนะในยุคไร้ยาฆ่าเชื้อแรง

15 มีนาคม 2558

นับตั้งแต่ที่ อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง เพาะเชื้อราจากพืชที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียอย่าง “เพนิซิลลิน” ได้สำเร็จ

โดย...ชญานิศ ส่งเสริมสวัสดิ์

นับตั้งแต่ที่ อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง เพาะเชื้อราจากพืชที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียอย่าง “เพนิซิลลิน” ได้สำเร็จ จนได้รับการยอมรับให้เป็นยาปฏิชีวนะตัวแรกของโลก ตัวยาดังกล่าวได้ช่วยชีวิตมนุษย์ รวมถึงสัตว์ไว้มากมาย

เรียกได้ว่า ไม่ว่าโรคอะไรก็มีส่วนต้องพึ่งพาประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะทั้งสิ้น แม้กระทั่งการผ่าตัด ที่แพทย์มักให้ยาฆ่าเชื้อมาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเชื้อแบคทีเรียทั้งหลายเริ่มกลายพันธุ์เพื่อให้ทนทานต่อยา หรือที่เรียกกันว่า “เชื้อ(โรค)ดื้อยา” ประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะในปัจจุบันเริ่มมีขีดจำกัด ถึงขนาดที่องค์การอนามัยโลก (ดับเบิ้ลยูเอชโอ) ออกโรงเตือนเมื่อเดือน เม.ย. 2014 ว่า โลกกำลังเข้าสู่ “ยุคหลังยาปฏิชีวนะ” ที่ใครก็ตามที่ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตสูงขึ้นอีกครั้ง

สำหรับสาเหตุของเชื้อโรคที่ดื้อยานี้ มาจากปัจจัยหลักๆ 3 ประการด้วยกัน ประการแรก คือการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นและมากเกิน ขณะที่เชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่หลายล้านชนิดบนโลกเกิดการพัฒนาและกลายพันธุ์ภายในดีเอ็นเอจนสามารถต้านทานฤทธิ์ของยาได้

นอกจากนี้ ยังเกิดจากการทานยาไม่ครบโดส หรือที่มักปะไว้ที่หน้าถุงยาว่า “ทานจนกว่ายาจะหมด” โดยการทานยาไม่ครบโดสจะทำให้ยาไปฆ่าเชื้อโรคไม่หมด และเชื้อโรคที่เข้มแข็งอยู่รอดได้นี่เอง ที่คือ “เชื้อดื้อยา”

ประการถัดมา คือ การพัฒนายาปฏิชีวนะที่หยุดนิ่งในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา อลัน คูเกิล ผู้เชี่ยวชาญด้านยาปฏิชีวนะแห่งมูลนิธิฟิล องค์กรไม่แสวงผลกำไร ระบุว่า ยาปฏิชีวนะมีราคาถูกและได้กำไรน้อยกว่ายาตัวอื่น อีกทั้งยังหมดระยะเวลาการคุ้มครองจากสิทธิบัตรไปแล้ว บริษัทยาต่างๆ จึงขาดแรงจูงใจที่จะพัฒนายา

ขณะเดียวกัน การพัฒนายาใหม่ๆ ขึ้นมาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเครื่องมือหรือวิธีการที่ใช้รักษาปัจจุบันไม่สามารถใช้ได้ผล

ประการสุดท้าย การใช้ยาปฏิชีวนะในภาคการเกษตร โดยพบว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยในการเติบโตของสัตว์ และช่วยให้ปราศจากการติดเชื้อ แม้สัตว์จะไม่ได้ป่วยก็ตาม ขณะที่ผลการวิจัยของศูนย์ข้อมูลไบโอเทคโนโลยีแห่งชาติสหรัฐ (เอ็นซีบีไอ) ระบุว่า 80% ของยาปฏิชีวนะของคนที่ผลิตได้ทั้งหมดถูกใช้ในสัตว์

เท่านั้นยังไม่พอ การใช้ในสัตว์มักใช้ในปริมาณที่ไม่ถูกต้อง ที่แม้จะฆ่าเชื้อที่อ่อนแอได้ แต่ก็ไม่อาจฆ่าเชื้อที่เข้มแข็งและรอดพ้นยาปฏิชีวนะไป ซึ่งจะกลายเป็น “เชื้อดื้อยา” ในเวลาต่อมา

ดังนั้น หนทางต่อสู้กับเชื้อดื้อยาในปัจจุบัน จึงเป็นการแก้ปัญหาดังที่กล่าวมา นั่นคือ การใช้ให้ถูก ใช้เท่าที่จำเป็น และพัฒนายาปฏิชีวนะ หรือหาเครื่องมือจัดการเชื้อโรคตัวใหม่

คูเกิล ระบุว่า ควรใช้ยาปฏิชีวนะอย่างระมัดระวัง รวมถึงระบบสาธารณสุขทั่วโลกควรจัดตั้งโครงการดูแลการใช้ยาฆ่าเชื้อขึ้นด้วย ที่อนุญาตให้แพทย์จ่ายยาที่เหมาะกับเชื้อโรคแบคทีเรียเท่านั้น ซึ่งจะสามารถช่วยลดการจ่ายยาให้กับเชื้อที่เกิดจากไวรัสอย่างไข้หวัดได้

‘เชื้อดื้อยา’ คุกคามโลก  หายนะในยุคไร้ยาฆ่าเชื้อแรง

 

ขณะเดียวกัน การพัฒนายาปฏิชีวนะก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยในขณะนี้หลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต่างตื่นตัวถึงการมาถึงของยุคหลังยาปฏิชีวนะตามที่ดับเบิ้ลยูเอชโอว่าไว้

ยกตัวอย่างเช่น ศูนย์ จอห์น อินน์ส (เจไอซี) ศูนย์การวิจัยพืชและจุลชีพวิทยาในอังกฤษ ที่ทดสอบแบคทีเรียจากเครื่องในแมลง โคลนและตะกอนจากก้นทะเล หรือคณะเภสัชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยวิชคันซินเมดิสัน แห่งสหรัฐ ที่เดินทางทดลองในพืชออกผลไปทั่วโลก

จะเห็นได้ว่าการพัฒนาดังกล่าวเป็นไปแนวทางเดียวกับการพัฒนายาเพนิซิลลิน ยาฆ่าเชื้อตัวแรกของโลก

นอกจากนี้ คูเกิล ยังเรียกร้องให้ผู้ผลิตอาหารเลือกซัพพลายเออร์ที่ใช้ยาปฏิชีวนะน้อยหรือไม่ใช้เลยอีกด้วย โดยเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา บริษัทอาหารชื่อดังอย่างแมคโดนัลด์ได้ประกาศว่า จะไม่ใช้ไก่ที่ได้รับยาปฏิชีวนะของคนในสาขาสหรัฐ

ทั้งนี้ ข่าวดีเกี่ยวกับยาปฏิชีวนะยังมีอยู่บ้าง เมื่อทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยนอร์ทอีสต์เทิร์นในบอสตัน สหรัฐ ประกาศว่าสามารถคิดค้นยาปฏิชีวนะตัวใหม่ที่ใช้สำหรับวัณโรค การติดเชื้อในกระแสเลือด และโรคติดเชื้ออื่นๆ ซึ่งนับว่าเป็นยาปฏิชีวนะตัวแรกในรอบ 30 ปี โดยยังต้องทดสอบอีกอย่างน้อย 5 ปี

อย่างไรก็ตาม งานที่ต้องทำในสงครามเชื้อดื้อยาครั้งนี้ยังมีอีกมาก หากปราศจากยาที่ทรงประสิทธิภาพและการใช้ยาอย่างระมัดระวัง ยุคหลังยาปฏิชีวนะที่ยาฆ่าเชื้อไม่อาจใช้ได้ผลอีกต่อไปอาจมาถึงแล้วจริงๆ

ความเสียหายจากเชื้อดื้อยา

1.เฉพาะในสหรัฐ มีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา 2.3 หมื่นคน/ปี ป่วยอีก 2ล้านคน/ปี
2.คาดเชื้อดื้อยาคร่า 10 ล้านชีวิตภายในปี 2050 มากกว่าจ€ำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งทั้งหมดในปัจจุบัน
3.สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจราว 3,200 ล้านล้านบาท ภายในปี2050

ที่มา : องค์กรตรวจสอบเชื้อดื้อยา จากยาโลก (เอเอ็มอาร์)