posttoday

ชงครม.เคาะรถไฟเร็วสูงกทม.-พัทยา-หัวหินพ.ค.นี้

09 มีนาคม 2558

"ประจิน" เสนอโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-พัทยา-หัวหิน ให้ครม.พิจารณาเดือนพ.ค.นี้

"ประจิน" เสนอโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-พัทยา-หัวหิน ให้ครม.พิจารณาเดือนพ.ค.นี้ 

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ความเร็วมากกว่า200 กม./ ชม เส้นทางกรุงเทพ-หัวหิน และกรุงเทพ-พัทยา เป็นเส้นทางที่มีความเป็นไปได้ทางด้านเศรษฐกิจ  สังคมและการท่องเที่ยว  จะมีการสรุปรายละเอียดและรูปแบบการลงทุนภายในต้นเดือน พ.ค.นี้ จาก นั้นจะเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในกลางเดือน พ.ค.นี้  คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนที่เข้ามาดำเนินการภายในปีนี้ พร้อมกับระบุว่า โครงการนี้ถือว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนและจะบรรจุเพิ่มเติมในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565  ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีด้วย

ส่วนความคุ้มค่าการลงทุนรถไฟความเร็วสูงนั้น จากข้อมูลที่มีการศึกษาพบว่า ผลตอบแทนจากการเดินรถอยู่ที่ 40% ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานถึง 10 ปี อาจไม่คุ้มค่าการลงทุนของเอกชน ดังนั้นจะมีการพิจารณาเรื่องผลตอบแทนเชิงพาณิชย์จาก 2 ปัจจัย คือ การให้บริการในเขตพื้นที่สถานีและการพัฒนาชุมชนเมืองใหม่ที่เกิดขึ้น ในส่วนนี้จะมีผลตอบแทน 60%  หลังจากปีที่ 10 ไปแล้ว จึงมีความเป็นไปได้ที่จะจูงใจให้เอกชนเข้ามาลงทุนได้            

“ผมเร่งให้กระทรวงคมนาคมกลับไปศึกษาความเป็นไปได้รถไฟความเร็วสูงทั้ง 2 เส้นทาง ให้นำผลการ ศึกษาฉบับเดิมของ สำนักงานโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่เคยศึกษาไว้มาเปรียบเทียบ แผนที่ชัดเจนจะสรุปเสนอ ครม.ภายในเดือน พ.ค.นี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีบอกชัดเจนว่า ทุกอย่างจะเกิดก่อนการเลือกตั้ง เพราะต้องการให้มีเปิดประมูลให้ได้ภายในรัฐบาลนี้เลย ”พล.อ.อ.ประจินกล่าว

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ที่มาของโครงการนี้ เกิดจากการที่นายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นและเห็นว่าประเทศญี่ปุ่นเติบโตอย่างรวดเร็วเพราะมีรถไฟความเร็วสูง ทำให้เกิดเมืองใหม่ เมืองอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว จึงเป็นที่มาของการผลักดันโครงการนี้ โดยจะต้องพิจารณาในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคมและท่องเที่ยวควบคู่ไปด้วย แต่เป้าหมายหลักคือเน้นการขนคนหรือนักท่องเที่ยว จากตัวอย่างในญี่ปุ่นที่มีรถไฟความเร็วสูงทำให้ชุมชนเจริญ เมืองเจริญ  ในขณะที่ประเทศไทยพบว่าเมืองได้เติบโตขึ้นมาแล้ว จึงเหลือแต่การผลักดันโครงการเพื่อเชื่อมต่อเมืองเข้าด้วยกัน แก้ปัญหาจราจรติดขัดได้  ลดอุบัติเหตุ รวมทั้งยังเป็นการสร้างเมืองใหม่ และกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนบริเวณเส้นทางรถไฟด้วย เพราะทั้งหัวหินและพัทยาก็มีปัญหาเรื่องการจราจรหากไม่แก้ไขปล่อยทิ้งไว้จะเกิดปัญหาตามมาในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ทางกระทรวงคมนาคมได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุน (Market Sounding)  ในเส้นทางกรุงเทพ- พัทยา - มาบตาพุด และกรุงเทพ-ปาดังเบซาร์  ซึ่งพบว่าการดำเนินโครงการในระยะทางยาวนั้น จะไม่มีผลตอบแทนที่คุ้มค่า มีปริมาณผู้โดยสารน้อย ทำให้ต้องเก็บค่าโดยสารสูง จะไม่มีผู้ใช้บริการมาก ทำให้การลงทุนต้องขาดทุนในที่สุด  จึงได้พิจารณาว่าจะดำเนินการช่วงแรกจากกรุงเทพ-หัวหิน  ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเริ่มดำเนินการได้ก่อน  เนื่องจากมีปริมาณผู้โดยสารที่เป็นนักท่องเที่ยวมากพอ และยังมีการเติบโตของเมืองในระหว่างทางเช่น เพชรบุรี  เป็นต้น ส่วนเส้นทางกรุงเทพ-พัทยามีทั้งปริมาณผู้โดยสารและแหล่งอุตสาหกรรมด้วย

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ในส่วนของกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ของนายเจริญ ศิริวัฒนาภักดี และ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอส) ที่แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง เนื่องจากเป็นนักธุรกิจที่อาจไปร่วมกับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างเข้ามาประมูลงาน หรืออาจร่วมมือกันเข้ามาดำเนินโครงการเพื่อประโยชน์ของประเทศ ซึ่งทุกแนวทางเป็นไปได้  แต่การดำเนินการจะใช้วิธีการเปิดประมูลให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนแบบ พีพีพี

นอกจากนี้ ส่วนประเทศญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการการตัดสินใจว่าจะดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ รางขนาด 1.435 เมตร ใน 3 เส้นทาง คือ 1.แม่สอด จ.ตาก – มุกดาหาร  2. พุน้ำร้อน-กาญจนบุรี -กรุงเทพ –ฉะเชิงเทรา - อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และฉะเชิงเทรา - แหลมฉบัง  จ.ชลบุรี  ซึ่งเชื่อมฝั่งตะวันออก-ตะวันตก  3. กรุงเทพ –เชียงใหม่  เชื่อมแนวเหนือใต้  ดังนั้นมีความเป็นไปได้หากประเทศญี่ปุ่นเลือกเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ อาจปรับเปลี่ยนมาเป็นรถไฟความเร็วสูงแทนได้