posttoday

เปิดชื่อ2ฝ่ายร่วมกรรมการถกปมสัมปทานรอบ21

24 กุมภาพันธ์ 2558

เปิดรายชื่อคณะกรรมการร่วม 2 ฝ่าย ถกปมเปิดสัมปทานปิดตรเลียมรอบที่ 21 ประชุมนัดแรก 26 ก.พ.นี้

เปิดรายชื่อคณะกรรมการร่วม 2 ฝ่าย ถกปมเปิดสัมปทานปิดตรเลียมรอบที่ 21 ประชุมนัดแรก 26 ก.พ.นี้

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. พล.ต.สรรเสริญ  แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คาดหวังว่าการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายคัดค้านสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 จะสามารถทำงานร่วมกันและหาข้อสรุปที่สังคม และนักลงทุนสามารถที่จะยอมรับเงื่อนไขต่างๆร่วมกันได้  ซึ่งในการดำเนินการหากต้องมีการแก้ไขกฎหมายหรือมีการตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมารองรับสามารถตอบข้อสงสัยของสังคม พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่นนักลงนายกรัฐมนตรีก็พร้อมจะตัดสินใจ แต่สังคมต้องเข้าใจว่าวันนี้มีกลุ่มผู้เห็นต่าง หากเกิดผลกระทบเช่นมีความล่าช้ามีผลต่ออนาคตอย่างไรสังคมก็ต้องรับทราบร่วมกัน ไม่ใช่โทษฝ่ายรัฐบาลอย่างเดียว เพราะแม้อำนาจตัดสินใจเป็นของรัฐบาลแต่ใจกว้างรับฟังทุกคน

ทั้งนี้ การจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อเสนอข้อมูลความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืน หรือคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงพลังงานและกลุ่มผู้เห็นต่างได้มีการส่งรายชื่อเบื้องต้นของทั้งสองฝ่ายเข้ามาแล้วหลังจากที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกจดหมายเชิญอย่างเป็นทางการแล้ว

ฝ่ายกระทรวงพลังงานประกอบไปด้วย นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน, นายมนูญ ศิริวรรณ สมาชิกสภาปฏิรูป (สปช.)และผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน, นายพล ธีรคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญสํานักกฎหมายกรมสรรพากร, นายประภาส คงเอียด ที่ปรึกษากฎหมาย กระทรวงการคลัง, นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อดีตอธิบดีกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พ.พ.), นายบุญบันดาล ยุวนะศิริ เชี่ยวชาญด้านสัมปทานปิโตรเลียม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ, นายรักไทย บูรพ์ภาค อาจารย์พิเศษวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี สถาบันเอ็มไอที

ฝ่ายที่เห็นต่างประกอบไปด้วย นต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, ม.ล.กรกสิวัฒณ์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระ, น.ส.รสนา โตสิตระกูล สปช.ด้านพลังงาน, นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ นายวิวัฒน์ชัย อัตถากร อาจารย์ประจำสถาบันพัฒนบัณฑิตและบริหารศาสตร์ หรือ นายนพ สัตยาศัย อดีตอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ส่วนกรณีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปปัตย์ และนายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง ไม่ได้เข้าร่วมเนื่องจากได้มีการหารือกันแล้วว่าไม่ต้องการให้มีภาพของนักการเมืองเข้ามาทำงานในคณะกรรมการร่วมชุดนี้

ทั้งนี้ คณะทำงานร่วมทั้งสองฝ่ายจะสรุปรายชื่อฝ่ายละ 6 คนเข้ามาเป็นคณะทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่จะทำหน้าที่เป็นโฆษกของคณะทำงานรวมทั้งอาจจะมีการเพิ่มนักกฎหมายเข้ามาเป็นองค์ประกอบของคณะทำงานชุดนี้เพื่อให้สามารถวางแนวทางในการแก้ไขกฎหมายหรือจัดตั้งองค์กรใหม่ที่มีความเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งการประชุมนัดแรกของคณะทำงานร่วมชุดนี้จะมีขึ้นในวันที่ 26 ก.พ.นี้

“จะแก้กฎหมายหรือไม่แก้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการชุดนี้ แต่เท่าที่ฟังฝ่ายที่เห็นต่างอยากให้แก้กฎหมาย โดยที่นายกฯระบุถึงการแก้กฎหมายนั้น น่าจะหมายถึง 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งเกิดจากการประชุมวงเล็กวันนั้นมันมีกฎหมายใหญ่คือพระราชบัญญัติที่ปัจจุบันกฎหมายเรามีสัมปทานอย่างเดียวแปลว่ารัฐมีเครื่องมืออย่างเดียวในการบริหารพลังงาน  จึงต้องร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ และมันต้องมีองค์ก่อนขึ้นมาบริหารด้วยตรงนี้ด้วย ซึ่งต้องทำหรือทำเมื่อไหร่เดี๋ยวคณะกรรมการชุดนี้จะคุยกัน จะต้องทำเลยต้องชะลอสัมปทานไปก่อน หรือว่าทำสัปทานไปได้และทำอันนี้ควบคู่กันไปเดี๋ยวคุยกันในคณะกรรมการชุดนี้ นอกจากนี้ก็มีส่วนที่สองคือกฎหมายที่รองลงมาปลีกย่อย กฎหมายภาษี สรรพกรที่เกี่ยวข้องเดี๋ยวหารือกันและดำเนินการได้ทันที”พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

ด้าน นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. วันที่ 24 ก.พ. ไม่ได้มีการหารืออย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21  โดยขณะนี้การแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลและกลุ่มผู้คัดค้านการเปิดสัมปทานนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล นายกรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดำเนินการซึ่งเป็นไปตามมติที่ได้มีการหารือกันหลังการเปิดเวทีภาคประชาชนเมื่อสัปดาห์ก่อน

อย่างไรก็ตาม สำหรับจุดยืนของกระทรวงพลังงานยังคงสนับสนุนการเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมพลังงานเพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ ส่วนจะมีการแก้ไขกฎหมายสัมปทานปิโตรเลียมก่อนจะมีการเปิดสัมปทานหรือไม่ก็คงจะต้องรอดูข้อสรุปอีกครั้งอย่างไรก็ตามยืนยันว่ากฎหมาย พ.ร.บ.ปิโตรเลียมไม่ใช่กฎหมายที่ล้าสมัยเพราะเป็นกฎหมายที่มีการปรับปรุงมาแล้วถึง 4 ครั้งนอกจากนั้นในการเปิดสัมปทานรอบนี้ก็มีการวางเงื่อนไขว่าในแปลงสัมปทานที่มีขนาดใหญ่ในแปลงหมายเลข D3 – D6 รัฐบาลสามารถที่จะเจรจาผลประโยชน์เพิ่มเติมได้ซึ่งเอกชนก็ทราบเงื่อนไขนี้ดีอยู่แล้ว