posttoday

บราเดอร์ฯ ในมือ "โทโมยูกิ" ปีแรกโกยมากกว่าตลาดรวม

23 กุมภาพันธ์ 2558

"บราเดอร์"เชื่อว่าปีนี้รายได้รวมบริษัทยังโตได้มากกว่าภาพรวมอุตสาหกรรม เน้นกลยุทธ์ 4C ทำตลาดปีนี้

โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ

เหลืออีกเพียง 1 เดือน บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นส่วนใหญ่ จะปิดรอบปีบัญชีตามบริษัทแม่ (เริ่มเดือน เม.ย.-มี.ค.) ในส่วนของ บราเดอร์ ก็เชื่อว่าปีนี้รายได้รวมบริษัทยังโตได้มากกว่าภาพรวมอุตสาหกรรมแน่

โทโมยูกิ ฟูจิโมโต กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา หลังเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของบราเดอร์ ประเทศไทย ซึ่งทีมงานทุกภาคส่วนช่วยผลักดันให้ยอดขายโตอย่างต่อเนื่อง ภาพรวมบราเดอร์ทั้ง 44 สาขาทั่วโลก ตั้งแต่เดือน เม.ย.-ธ.ค. 2557 โต 15.4% คาดว่าหลังจากจบปี 2557 (เม.ย. 2557-มี.ค. 2558) จะอยู่ที่ 1.97 แสนล้านบาท

“กลยุทธ์ที่จะมุ่งเน้นในปีนี้ นอกจากกิจกรรมด้านซีเอสอาร์นั้น ก็คือกลยุทธ์ 4C ได้แก่ Customer Value เน้นสินค้าที่ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม Cost to the Customer จัดโปรโมชั่นพิเศษให้ลูกค้ารู้สึกถึงความคุ้มค่า Convenience เข้าถึงร้านค้าหรือสาขาต่างๆ ได้สะดวกขึ้น และ Communication สื่อสารกิจกรรมการตลาดให้มากขึ้น เชื่อว่ากลยุทธ์นี้จะสร้างความมั่นคงให้กับแบรนด์อย่างแน่นอน” โทโมยูกิ กล่าว

ทางด้าน ธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดความต้องการสินค้าของคนไทยจากการเก็บข้อมูลของบริษัท พบว่า ต้นทุนต่อแผ่นในการพิมพ์ต้องถูก ฟีเจอร์ต้องครบความต้องการ

“จากเดิมที่เคยคิดว่าค่าเครื่องถูกจะเป็นที่ต้องการของตลาดมาก กว่า แต่หลังการเก็บข้อมูลทำให้ทราบว่าลูกค้าต้องการความคุ้มค่าในการใช้งาน ทำให้ราคาเฉลี่ยของสินค้าที่ขายดีอยู่ที่ 3,000-4,000 บาท นอกจากนี้ ค่าต้นทุนหมึกก็มีความสำคัญว่าใช้งานได้นานและคุณภาพดี แม้ไม่ได้ใช้งาน อีกเรื่องที่ลูกค้าต้องการคือ ฟีเจอร์ที่ใช้งานได้ โดยไม่ต้องเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์อีกต่อไป เพียงสั่งงานจากดีไวซ์ส่วนตัวของลูกค้าได้ทันที”ธีรวุธ กล่าว

ในปีนี้บราเดอร์จะมีสินค้าทุกกลุ่มรวมกัน ไม่ว่าจะเป็น พรินเตอร์ สแกนเนอร์ เครื่องจักรเย็บ เครื่องจักรปักและเครื่องพิมพ์ฉลาก วางขายในปีนี้มากกว่า 10 รายการ ซึ่งสัดส่วนธุรกิจของบริษัทในกลุ่มพรินเตอร์ ยังคงเป็นสินค้าหลัก รองลงมาคือ เครื่องจักรปักที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้บริษัทในปีที่ผ่านมา 30-40% จากกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องการหารายได้เสริม

ด้านแผนตลาดในอาเซียนยังมีสิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ที่มีสำนักงานใหญ่ของบราเดอร์ตั้งอยู่ โดยไทยจะดูแลตลาดให้กับทางลาว เช่นเดียวกับสิงคโปร์ที่ดูตลาดให้กับพม่า ซึ่งในด้านบริหารจัดการงบต่างๆ แต่ละสาขาที่มีสำนักงานใหญ่บริหารงบได้เอง

“ในประเทศไทย เราจะทุ่มงบไปกับเรื่องกิจกรรมซีเอสอาร์ กิจกรรมที่จัดในแต่ละปีจะมีงบแยกต่างหาก ไม่เกี่ยวกับงบการตลาด โดยกิจกรรมใดที่จัดและได้รับความนิยมจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทางสำนักงานใหญ่จะให้งบเพิ่มในการสานต่อกิจกรรมนั้นๆ ต่อ ซึ่งกิจกรรมปลูกป่าชายเลนได้รับการโหวตให้เป็นกิจกรรมดีเด่นเป็นอันดับ 3 ของโลก และได้รับงบต่อเนื่องมา 5 ปีแล้ว” ธีรวุธ กล่าว

ถึงแม้การประเมินภาพรวมการจับจ่ายใช้สอยและหนี้ภาคครัวเรือนของประเทศ อาจจะดูชะลอตัวฝืดๆ แต่ความต้องการสินค้าที่ตอบสนองการทำงาน โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มไอที กลับมีความต้องการอยู่อย่างต่อเนื่อง สวนทางกับการใช้จ่ายด้านอื่นๆ