posttoday

ภาคประชาชนแถลงย้ำต้องแก้กม.ปิโตรเลียมก่อนเปิดสัมปทาน

22 กุมภาพันธ์ 2558

เครือข่ายปฏิรูปพลังงานฯ แถลงจุดยืนต้องแก้กม.ปิโตรเลียมก่อนเปิดสัมปทานรอบ 21 แนะหากเร่งใช้ทรัพยากรปิโตรเลียมควรตรา พรก.จ้างสำรวจ 3 แปลงในทะเลที่มีศักยภาพก่อน

เครือข่ายปฏิรูปพลังงานฯ แถลงจุดยืนต้องแก้กม.ปิโตรเลียมก่อนเปิดสัมปทานรอบ 21 แนะหากเร่งใช้ทรัพยากรปิโตรเลียมควรตรา พรก.จ้างสำรวจ 3 แปลงในทะเลที่มีศักยภาพก่อน

เมื่อวันที่ 22 ก.พ. เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำโดย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ได้แถลง จุดยืนต่อท่าทีของรัฐบาลในวันที่ 20 ก.พ. โดยระบุว่า เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยขอสรุปในส่วนการเจรจาในที่ประชุมในช่วงบ่ายวันที่ 20 ก.พ. ระหว่างตัวแทนกระทรวงพลังงานและภาครัฐ กับ ภาคประชาชน ดังนี้

1. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าควรให้มีการจัดสรรทรัพยากรปิโตรเลียมให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และมั่นคง เพื่อแก้ไขความรู้สึกที่ประชาชนเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม อันเป็นสาเหตุทำให้ประชาชนขาดความไว้เนื้อเชื่อใจภาครัฐ

ทั้งสองฝ่ายจึงเห็นพ้องต้องกันว่า เห็นควรเสนอให้ฝ่ายนโยบายภาครัฐ พิจารณาในประเด็นนี้ให้เกิดความเป็นธรรมในด้านราคาพลังงาน โดย ในที่ประชุมดังกล่าวนี้ภาคประชาชนได้ระบุประเด็นเรื่องความไม่เป็นธรรมในด้านราคาก๊าซ LPG ของครัวเรือน กับราคาก๊าซ LPG ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่ต้องมีการแก้ไขเพื่อให้ประชาชนได้มั่นใจว่าการเปิดใช้ทรัพยากรปิโตรเลียมรอบใหม่นี้จะเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีหรือประชาชน

2. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าเสนอให้รัฐบาลมีพันธะสัญญาว่าจะแก้ไข พรบ.ปิโตรเลียม พรบ.ภาษีปิโตรเลียม และกฎหมายอื่นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ สร้างความเป็นธรรมและสร้างบรรยากาศในการแข่งขัน ตลอดจนปกป้องและเยียวยาชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ให้เสร็จสิ้นภายในอายุของรัฐบาลชุดนี้ เพื่อเปิดทางเลือกอื่นๆในสถานการณ์ใหม่ในการให้สิทธิแก่เอกชน ที่มาสำรวจ หรือ ผลิตปิโตรเลียม เช่น การให้รัฐจ้างเอกชนมาสำรวจหรือมาผลิต หรือเปิดการแข่งขันราคาในการแบ่งปันผลผลิตเพื่อให้ปิโตรเลียมตกเป็นของรัฐ หรือให้ผลตอบแทนรัฐสูงสุด

3. กรณีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ทั้งสองฝ่ายเห็นไม่ตรงกัน โดยกระทรวงพลังงานยืนยันว่าจำเป็นต้องเร่งเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ต่อไปในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2558 แต่ภาคประชาชนเห็นว่าไม่ควรเดินหน้าต่อไปภายใต้เงื่อนไขในปัจจุบัน

ฝ่ายภาครัฐจึงเสนอให้นายกรัฐมนตรีตั้งคณะทำงาน 2 ฝ่ายขึ้นมา ทำข้อเสนอเรื่องที่ต้องแก้ไขภายในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2558 หากยังไม่จบ ก็จะนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจอีกครั้งว่าจะพิจารณาขยายเวลาต่อไปหรือไม่ อย่างไร

4. ข้อเสนอของภาคประชาชนซึ่งยังไม่ปรากฎต่อสื่อมวลชน และเกรงว่านายกรัฐมนตรีอาจยังไม่ทราบจุดยืนและข้อเสนอดังกล่าวในการหาทางออกในเรื่องปิโตรเลียมของภาคประชาชนดังนี้

4.1 ภาคประชาชนมีความเชื่อมั่นว่า เรามีเวลาเพียงพอที่จะแก้ไขกฎหมายให้เสร็จสิ้นก่อน และยืนยันว่าสมควรที่จะยกเลิกประกาศของกรมเชื่อเพลิงธรรมชาติ ในการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพื่อยุติปัญหาทั้งปวง

4.2 แต่เมื่อภาครัฐยืนยันว่า จำเป็นต้องเร่งใช้ทรัพยากรปิโตรเลียม เพราะประเทศจะเข้าสู่ภาวะวิกฤติขาดแคลนพลังงาน เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยจึงขอเสนอทางออกให้แบ่งทรัพยากรปิโตรเลียมออกเป็น 2 ส่วน คือ

ส่วนที่หนึ่ง คือ พื้นที่ซึ่งกระทรวงพลังงานระบุว่าเป็นพื้นที่มีศักยภาพสูงในการพบปิโตรเลียม คือพื้นที่แปลงสัมปทานในทะเล 3 แปลง ซึ่งอยู่ติดแปลงสัมปทานเดิม จึงเสนอให้ภาครัฐอาศัยเหตุผลเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ตราเป็นพระราชกำหนดให้ภาครัฐดำเนินการจ้างสำรวจ 3 แปลงในทะเลที่มีศักยภาพ เมื่อพบปิโตรเลียมแล้ว จึงค่อยมาพิจารณาว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐด้วยวิธีการใด เช่น การจ้างเอกชนผลิต หรือเปิดการแข่งขันราคาในระบบแบ่งปันผลผลิต เพื่อให้ปิโตรเลียม 3 แปลงในทะเลตกเป็นของรัฐ และสร้างประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ

ส่วนที่สอง คือ พื้นที่ซึ่งกระทรวงพลังงานมีความไม่แน่ใจ และระบุว่าเป็นพื้นที่ซึ่งมีโอกาสจะพบปิโตรเลียมน้อย หรือไม่พบเลยอีก 26 แปลง ดังนั้นการเร่งรีบการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมจึงไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องการขาดแคลนปิโตรเลียมดังที่รัฐบาลกล่าวอ้าง ดังนั้นจึงควรรอการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน

5. สำหรับข้อเสนอของภาครัฐในการตั้งคณะทำงาน 2 ฝ่ายนั้น เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย พร้อมที่จะให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อเสนอทางออกดังกล่าว และจะขอพิจารณาโครงสร้าง บุคลากร และรูปแบบของคณะทำงาน ถ้าหากคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมานั้นเป็นเพียงแค่พิธีการเพื่อการถ่วงเวลา โดยไม่ได้มีผลต่อการทบทวนการเดินหน้าสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เราจะไม่ขอเข้าร่วมและถอนตัวจากการพูดคุยทันที