posttoday

สศก.เผยน้ำมันลดช่วยดันเศรษฐกิจการเกษตรขยายตัว

12 กุมภาพันธ์ 2558

สศก.เผยราคาน้ำมันลดลงต่อเนื่องช่วยต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรลด ส่งผลต่อปริมาณสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกเพิ่ม

สศก.เผยราคาน้ำมันลดลงต่อเนื่องช่วยต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรลด ส่งผลต่อปริมาณสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกเพิ่ม

นายเลอศักดิ์  ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะที่โลกกำลังเผชิญวิกฤติราคาน้ำมันลดลงอย่างมหาศาลในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จากราคาสูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เมื่อเดือนมิ.ย. 2557  เหลือเพียง 62.5 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ในเดือนธ.ค. 2557 ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี    ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าเกษตรลดลงโดยสินค้าประมงจะได้อานิสงค์มากที่สุด  โดยพบว่า  สามารถลดต้นได้มากถึง  3-7 % กรณีที่ราคาน้ำมันโลกอยู่ที่  70- 30 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล

สำหรับการวิเคราะห์ผลกระทบที่มีต่อที่มีต่อเศรษฐกิจการเกษตร โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่สำคัญ 6 รายการ ข้าว     มันสำปะหลัง  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ยางพาราและผลไม้ จะพบว่า เมื่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรลดลง จึงส่งผลต่อปริมาณสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสของการเพิ่มระดับขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตรในตลาดโลกมากขึ้น และเมื่อการผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น จะก่อให้เกิดการปรับปรุงสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมถึงการจ้างแรงงานภาคเกษตรมากขึ้น ดังนี้ โดยเมื่อพิจารณาแต่ละสินค้า พบว่า ข้าว เมื่อระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 50-20  เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ณ ระดับ ราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงลดลงจะส่งผลต่อปริมาณการผลิตข้าวเพิ่มขึ้น  2-4%  

ทั้งนี้หากระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล จะทำให้ปริมาณการผลิตข้าวนาปี จากจำนวนการผลิตข้าว 27.1 ล้านตันและการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 28.2 ล้านตัน

มันสำปะหลัง จะเพิ่มจากจาก  30 ล้านตันและการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 30.1 ล้านตัน  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  จะทำให้ปริมาณการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่มจาก 4.8 ล้านตันและการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.9 ล้านตัน   ยางพารา    ผลผลิตยางพารา จะเพิ่มจาก 4.41 ล้านตันและการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.43 ล้านตัน  ปาล์มน้ำมัน จะเพิ่มจาก  12.5 ล้านตันและการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 13.2 ล้านตัน   ผลไม้(เงาะ)   3.2  แสนตัน เป็น 3.3 แสนตัน

ทั้งนี้ สศก. วิเคราะห์ โดยตั้งสมมติฐาน ให้แนวโน้มระดับราคาน้ำมันลดลงจากระดับราคาน้ำมัน 70  เหรียญสหรัฐฯต่อบาเรล (เฉลี่ยเมื่อเดือน ตุลาคม 2557) มาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบใน   3 กรณี  ประกอบด้วย  1.กรณีที่ระดับราคาน้ำมันอยู่ที่โดยเฉลี่ย 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาเรล พบว่า สามารถลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรโดยเฉลี่ย  1.505 % โดยมีสาขาประมงลดต้นทุนได้สูงสุดได้ถึง  3.586%และต่ำสุดเพียง 0.146%

2.กรณีที่ระดับราคาน้ำมันอยู่ที่โดยเฉลี่ย 40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาเรล พบว่า สามารถลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรโดยเฉลี่ย  2.257 % ดยมีสาขาประมงลดต้นทุนได้สูงสุดได้ถึง 5.378 %และต่ำสุดเพียง  0.219%

3.กรณีที่ระดับราคาน้ำมันอยู่ที่โดยเฉลี่ย 30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาเรล พบว่า สามารถลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรโดยเฉลี่ย  3.010% โดยมีสาขาประมงลดต้นทุนได้สูงสุดได้ถึง 7.171%  และต่ำสุดเพียง  0.292%

ทั้งนี้รายงานจากมอร์แกน สแตนเลย์ มีการระบุว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาในระยะสั้นๆ แต่ก็เป็นไปอย่างจำกัดและไม่ยั่งยืน เนื่องจากราคาน้ำมันในปัจจุบันมิใช่จุดต่ำสุดของตลาด  ซึ่งราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันจะเป็นความเคลื่อนไหวเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากมีปัจจัยหลักหลายอย่าง เช่น การปิดแท่นขุดเจาะน้ำมันหลายร้อยแห่งทั่วสหรัฐ  ผู้ผลิตน้ำมันหลักของโลกอย่างกลุ่มโอเปกยังคงกำลังการผลิตเท่าเดิม และปัจจัยอื่นๆ เป็นต้น  ที่จะส่งผลให้ราคาน้ำมันลดลงไปได้อีก