posttoday

คาดตรุษจีนเงินสะพัด 5.04 หมื่นล.

12 กุมภาพันธ์ 2558

ม.หอการค้าไทยเผยโพลตรุษจีนปีนี้ คาดเงินสะพัด 5.04 หมื่นล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อน 5.71%

ม.หอการค้าไทยเผยโพลตรุษจีนปีนี้ คาดเงินสะพัด 5.04 หมื่นล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อน 5.71%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองคณบดีฝ่ายวิจัยและผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคช่วงเทศกาลตรุษจีน จากกลุ่มตัวอย่าง 1,282 ราย พบว่า ค่าใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดอยู่ที่ 5.04 หมื่นล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.71% ที่มีมูลค่าค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 4.77 หมื่นล้านบาท

“หากดูมูลค่าแล้วตรุษจีนปีนี้มีมูลค่าสูงสุดในรอบ 10 ปีนับตั้งแต่ที่ทำการสำรวจมา แต่อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนม.ค.  พฤติกรรมการใช้จ่ายช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผลสำรวจออกมาเหมือนกันว่าผู้บริโภคยังระมัดระวังการใช้จ่ายอยู่ ซึ่งจริงๆ แล้วตรุษจีนปีนี้น่าจะขยายตัวได้ 7-10% ถ้าสถานการณ์เศรษฐกิจไม่มีภาพการฟื้นตัวช้า” นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การวางแผนใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการซื้อของไหว้เจ้า โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 3,543.85 บาท ซึ่งปริมาณการซื้อสินค้าใกล้เคียงกับปี 2553 ที่เศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่ภาพรวมเศรษฐกิจจะดูซึมๆ และไม่โดดเด่น และพบว่าภาพรวมบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยช่วงเทศกาลตรุษจีนจะคึกคักเฉพาะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑ, ส่วนต่างจังหวัดจะซบเซาลง เนื่องจากราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ ยกเว้นภาคใต้ที่แม้ราคายางพาราจะลดลงมาก แต่หลายพื้นที่มีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับตรุษจีนมากเป็นพิเศษ จึงทำให้บรรยากาศยังไม่ซบเซามากนัก

ขณะที่พฤติกรรมการใช้จ่ายเพื่อสังสรรค์ การซื้อสินค้าคงทนอย่างทอง การซื้อสินค้าฟุ่มเฟื่อยและการให้แตะเอียในปีนี้ส่วนใหญ่ลดลง โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามตอบว่าค่าใช้จ่ายปีนี้ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน 17.8% เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่าภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลงจึงทำให้ลดค่าใช้จ่ายลงตามไปด้วย ขณะที่ผู้บริโภค 22.5% ตอบว่ามีค่าใช้จ่าลยเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาสินค้าแพงขึ้น

สำหรับการวางแผนไปเที่ยวในช่วงตรุษจีนปีนี้ก็ไม่คึกคักเท่าไหร่เช่นกัน เนื่องจากเป็นช่วงวันธรรมดา ไม่ใช่วันหยุด ส่วนใหญ่ 86.8% จึงยังไม่มีแผนไปเที่ยว มีเพียง 13.2% ที่มีแผนไปเที่ยว และในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ 90.2% มีแผนไปเที่ยวในประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดในภาคเหนือเช่น เชียงใหม่ ตาก แพร่ เชียงราย และภาคกลางเช่น ชลบุรี ระยอง สระบุรี และกาญจนบุรี ส่วนต่างประเทศอยู่ในกลุ่มประเทศใกล้เคียงเช่น ฮ่องกง จีน มาเลเซีย เกาหลี สิงคโปร์ ญี่ปุ่นและพม่า

นอกจากนี้ยังสำรวจถึงทัศนะเกี่ยวกับสถานการณ์ทั่วไปที่ผู้บริโภคมีความเป็นห่วงมากที่สุด โดยส่วนใหญ่ 25.8% มีความเป็นห่วงด้านเศรษฐกิจที่มีการฟื้นตัวล่าช้า รองลงมา 21.8% ห่วงเรื่องข้าวของราคาแพง 18.7% ห่วงปัญหาคอร์รัปชัน 17.4% ห่วงด้านการเมือง

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สิ่งที่ภาคเอกชนและผู้บริโภคกังวลคือ เครื่องจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่เดิน และการส่งออกของไทยในปีนี้ยังไม่โดดเด่น เนื่องจากประสบปัญหาค่าเงินบาทอ่อนตัวน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่ค้า เช่น มาเลเซียที่ค่าเงินอ่อนค่าลง 9% สิงคโปร์ 7% อินโดนีเซีย 5-6% และหยวนจีน 3% ขณะที่ไทยค่าเงินยังทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ประกอบกับภาคการส่งออกไทยยังเจอปัญหาเรื่องการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) จึงทำให้ปีนี้การส่งออกไม่ใช่พระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย

อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลไม่เร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้ออกมาในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ และบริหารจัดการค่าเงินให้อยู่ภายใต้กรอบ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เพื่อเอื้อต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยให้กลับมาสดใส ก็อาจทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวอยู่ที่ 2-2.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3-3.5% และอาจทำให้ภาพรวมทั้งปีนี้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสโตต่ำกว่าที่คาดไว้ 3-3.5% ได้

ด้านนายวชิร ทวีคูณเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า ตอนนี้สินค้าที่ปรับราคาแบบก้าวกระโดดจะมี 2 ชนิด คือ ส้มและกล้วยหอม ส่วนสินค้าประเภทอื่นๆ  ยังพบว่าราคายังปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปกติไม่มากนัก ไม่ว่าจะเป็นไก่ เป็ด เนื้อหมูและผักต่างๆ ส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำมันที่ถูก ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งไม่มากนัก โดยราคากล้วยหอมในเมืองส่วนใหญ่ขายกันอยู่ที่หวีละ 100 บาท จากปกติขายอยู่ที่หวีละ 40-60 บาท ส่วนส้มก็มีราคาหลายระดับตามคุณภาพ ตั้งแต่ 50-60 บาทต่อกิโลกรัม ไปจนถึง 100 บาทต่อกิโลกรัม