posttoday

ท่องเที่ยวเหนื่อยหักลดหย่อนภาษีแค่หยดน้ำในทะเล

17 มิถุนายน 2553

สร้างปรากฏการณ์เหมือนจะเป็นยาแรงให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกับมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ที่เห็นชอบให้คนไทยที่ซื้อแพ็กเกจทัวร์ผ่านบริษัททัวร์ หรือวางแผนเดินทางด้วยการจองห้องพักเอง

สร้างปรากฏการณ์เหมือนจะเป็นยาแรงให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกับมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ที่เห็นชอบให้คนไทยที่ซื้อแพ็กเกจทัวร์ผ่านบริษัททัวร์ หรือวางแผนเดินทางด้วยการจองห้องพักเอง

โดย...ทีมข่าวธุรกิจตลาด

สร้างปรากฏการณ์เหมือนจะเป็นยาแรงให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกับมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบให้คนไทยที่ซื้อแพ็กเกจทัวร์ผ่านบริษัททัวร์ หรือวางแผนเดินทางด้วยการจองห้องพักเอง สามารถนำใบเสร็จมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.) ปี 2553 ได้ 1.5 หมื่นบาท

ซึ่งความเป็นจริง มาตรการดังกล่าวเป็นเพียงยาพาราเซตตามอน ที่รัฐบาลกำลังมาใช้บรรเทาอาการมะเร็งของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดย เจริญ วังอนานนท์ นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) สะท้อนแนวคิดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจการท่องเที่ยวว่า มาตรการดังกล่าวถือเป็นจุดขายที่ดีในรอบ 10 ปี ที่ภาครัฐยอมผ่อนปรนเพื่อส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว แต่มาตรการดังกล่าวไม่ใช่คำตอบทั้งหมด ที่ช่วยพลิกฟื้นให้การท่องเที่ยวภายในประเทศกลับมาคึกคักเหมือนภาวะปกติ

รัฐบาลควรหามาตรการอื่นๆ ออกมาช่วยเสริมให้การท่องเที่ยวมีแม่เหล็กดูดเม็ดเงินในกระเป๋าของคนไทยออกมาให้ได้ เช่น มาตรการลด แลก แจก แถม โดยต้องทำในภาพรวมทั้งประเทศ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเดินทาง รวมถึงการทำฮาร์ดเซลส์ร่วมกับบริษัททัวร์ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม

ท่องเที่ยวเหนื่อยหักลดหย่อนภาษีแค่หยดน้ำในทะเล

ทั้งนี้ มาตรการลดหย่อนภาษีจะทำให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 10-15% เท่านั้น และทำให้ประเทศมีกลุ่มลูกค้าระดับบีบวกขึ้นไปเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงการคลัง ต้องเร่งโฆษณาประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ในวงกว้างผ่านสื่อครบวงจรให้คนไทยรู้ถึงขั้นตอนการใช้สิทธิดังกล่าว

นอกจากนี้ ควรให้ผู้นำประเทศ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นพรีเซนเตอร์ในการจุดกระแสการเดินทางในครั้งนี้ เพราะภาพดังกล่าวจะทำให้คนไทยมีกระแสการเดินทางท่องเที่ยวตามรอยผู้นำประเทศ

“รัฐบาลควรปลุกระดมให้หน่วยงานราชการ อบต. อบจ. สส. เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่างกับคนไทย แต่ขณะนี้หลายหน่วยงานมีแผนเดินทางออกไปดูงานต่างประเทศเป็นจำนวนมาก”

อย่างไรก็ตาม มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการท่องเที่ยวค่อนข้างมีความล่าช้า ทั้งๆ ที่ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองมาตลอด และปัญหาที่เกิดขึ้นในรอบนี้เป็นปัญหาที่ค่อนข้างใหญ่และมีความสาหัสมาก แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมา น่าจะทำให้การประสานงานเกิดความคล่องตัวได้มากกว่าที่เป็นอยู่

ทั้งนี้ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยต้องพิจารณาว่ามาตรการใดสามารถช่วยเหลือได้ทันที และมาตรการใดช่วยได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณ แต่ขณะนี้ทุกปัญหามีความติดขัด โดยเฉพาะการปล่อยวงเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งขณะนี้มีความสำคัญมากที่สุด ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล

ด้าน มัยรัตน์ พีระญาณ์โกเศส นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) กล่าวว่า ในช่วงนี้ ททท.ควรชะลอความสำคัญการโรดโชว์สินค้าทางการท่องเที่ยวไทยในต่างประเทศ แต่ควรมุ่งกระตุ้นตลาดในประเทศให้เกิดกระแสการเดินทางได้จริง เพราะช่วงเวลานี้ตราบใดที่ผู้นำประเทศไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยว หรือลงพื้นที่ของประเทศไทยได้ทุกภูมิภาค เชื่อว่านักท่องเที่ยวจะยังไม่รู้สึกปลอดภัยในการเที่ยวเมืองไทยมากนัก

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีพร้อมครอบครัว อาจเป็นพรีเซนเตอร์เดินทางท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อเผยแพร่ภาพดังกล่าวทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้มาก

“เอกชนท่องเที่ยวมั่นใจว่าถ้าภาครัฐสร้างแรงขับเคลื่อนที่ดี ไตรมาส 4 นี้การท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัวได้จริง เพราะช่วงปลายปีจะเข้าสู่ฤดูหนาวช่วยเสริมบรรยากาศได้ แต่ทุกมาตรการ หน่วยงานทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันทั้งประเทศ” มัยรัตน์ กล่าว

นอกจากนี้ รัฐควรพิจารณาการส่งเสริมตลาดประชุมสัมมนา (ไมซ์) ให้สามารถลดหย่อนภาษีได้ เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป แต่ในความเป็นจริงหลายหน่วยงาน เช่น จ.กาญจนบุรี ได้ออกคำสั่งให้ข้าราชการชะลอการจัดไมซ์ ซึ่งสวนทางกับการกระตุ้นท่องเที่ยวอย่างสิ้นเชิง

สำหรับภาพรวมธุรกิจขณะนี้หลายบริษัทเริ่มขาดสภาพคล่อง เริ่มขายสินทรัพย์อย่างรถตู้มาประคองธุรกิจ หรือการขายแพ็กเกจทัวร์ในราคาต้นทุน เพื่อให้มีเงินเข้ามาหมุนเวียนเลี้ยงลูกน้องบ้าง