posttoday

อุตฯเล็งออกแพกเกจหนุนพลาสติกชีวภาพ

24 มกราคม 2558

ก.อุตฯ เตรียมหารือ “หม่อมอุ๋ย” ออกแพกเกจหนุนพลาสติกชีวภาพ ชงลดภาษีนำเข้า – หักภาษี 200%พร้อมตั้งเป้าปี 2563 ผลิตได้ 1 ล้านตัน/ปี

ก.อุตฯ เตรียมหารือ “หม่อมอุ๋ย” ออกแพกเกจหนุนพลาสติกชีวภาพ ชงลดภาษีนำเข้า – หักภาษี 200%พร้อมตั้งเป้าปี 2563 ผลิตได้ 1 ล้านตัน/ปี

นายปราโมทย์ วิทยาสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยการหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการพลาสติกชีวภาพ ว่า ในการหารือวันนี้ เพื่อรวบรวมข้อมูลถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไปสู่การเป็นโปรดักส์แชมเปี้ยนตัวใหม่ของไทยในอนาคต ซึ่งจากการหารือพบว่ามีความเป็นไปได้สูงมาก เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตอ้อย น้ำตาล และมันสำปะหลัง ที่เป็นวัตถุดิบต้นน้ำของพลาสติกชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และเป็นอันดับ 2 ของโลก

“แนวทางการสนับสนุนจะแบ่งแยกออกเป็นหลายส่วน ส่วนใดที่สามารถผลักดันได้ก่อนก็จะเร่งดำเนินการ ซึ่งในวันจันทร์ที่ 26 ม.ค.นี้ กระทรวงอุตสาหกรรรม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะเข้าพบหารือกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอแนวทางการลดภาษีนำเข้าเม็ดพลาสติกชีวภาพให้ลดลงจากปัจจุบันที่จัดเก็บ 5% เพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งแนวทางสนับสนุนอื่นๆ ซึ่งว่าในขณะนี้ต้นทุนพลาสติกชีวภาพจะแพงกว่าพลาสติกทั่วไป แต่ถ้ารวมกับค่ากำจัดแล้ว พลาสติกชีวภาพจะมีราคาที่ต่ำกว่า” นายปราโมทย์ กล่าว

ด้าน นายเกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวว่า  กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ตั้งเป้าหมายให้ในปี 2563 จะมียอดการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะใช้วัตถุดิบน้ำตาลประมาณ 1 ล้านตัน โดยขณะนี้ ตลาดหลักพลาสติกชีวภาพจะเป็นภูมิภาคอเมริกาเหนือมีสัดส่วน 40% รองลงมาเป็นยุโรป และเอเชียภูมิภาคละ 30% ซึ่งพลาสติกชีวภาพขอฝั่งอเมริกาจะใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบหลัง ขณะที่ของเอเชียจะใช้จากน้ำตาล แต่ก็มีเพียงโรงงานขนาดเล็กในแถบจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ส่วนยุโรปไม่สามารถผลิตวัตถุดิบเองได้ เนื่องจากมีพื้นที่จำกัด และสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ดังนั้นหากไทยสามารถตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพขนาดใหญ่ได้ ก็จะเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของเอเชีย ที่ป้อนสินค้าให้ทั้งกับภูมิภาคเอเชีย และยุโรป

ขณะที่ นายพฤฒิ เกิดชูชื่น  กรรมการผู้จัดการ บริษัท แดรี่ โฮม จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯได้ริเริ่งนำพลาสติกชีวภาพไปเป็นบรรจุภัณฑ์ในกลุ่มของถ้วยโยเกิต ซึ่งจะมีต้นทุนแพงกว่าพลาสติกทั่วไปประมาณ 35-50% แต่ถ้าคิดเป็นต้นทุนรวมของสินค้าจะทำให้สูงขึ้นเพียง 1-2% ซึ่งเป็นอัตราที่ยอมรับได้ และถ้านำไปใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สินค้าอื่น ก็อาจจะต่ำกว่านี้ ดังนั้นจึงมองว่าพลาสติกชีวภาพมีอนาคตที่จะที่แจ่มใส และหากมีการใช้เพิ่มขึ้น ก็จะยิ่งมีต้นทุนที่ถูกลง ส่วนผลิตภัณฑ์พลาสติดชีวภาพที่เป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรม และเครื่องใช้ต่างๆจะมีราคาแพงว่าประมาณ 2-3 เท่าตัว และมีราคาถูกลงเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตามหากจะให้ภาคเอกชนหันมาใช้พลาสติกชีวภาพมากยิ่งขึ้น ภาครัฐควรจะเพิ่มแรงจูงใจเพิ่มขึ้น โดยมีแนวทางเสนอให้รัฐบาลหักภาษี 200% ให้กับผู้ประกอบการที่ใช้พลาสติกชีวภาพ เนื่องจากจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงดึงดูดให้ผู้ประกอบการหันมาใช้พลาสติกชีวภาพเพิ่มขึ้นอีกมาก รวมทั้งควรจะมีมาตรการสนับสนุนโรงงานฉีดพลาสติกที่เป็นเอสเอ็มอี ในการปรับรุงเครื่องจักรให้รองรับเม็ดพลาสติกชีวภาพ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการบริโภคตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ