posttoday

3ค่ายมือถือพร้อมเข้าร่วมประมูล4จี

23 ธันวาคม 2557

เอไอเอส-ดีแทค-ทรูมูฟ เอช แถลงพร้อมร่วมประมูลคลื่นความถี่ 4 จี แนะรัฐนำคลื่นที่ว่างอยู่มาใช้งานให้เกิดประโยชน์

เอไอเอส-ดีแทค-ทรูมูฟ เอช แถลงพร้อมร่วมประมูลคลื่นความถี่ 4 จี แนะรัฐนำคลื่นที่ว่างอยู่มาใช้งานให้เกิดประโยชน์

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส  บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ผู้ให้บริการ ทรูมูฟเอชได้ร่วมแถลงความพร้อมในการเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 4จี ในปี 2558 พร้อมสนับสนุนนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล

ทั้งนี้ผู้ให้บริการทั้ง 3 ค่ายมีความเห็นร่วมกันว่า การประมูลคือทางออกของการจัดสรรคลื่นความถี่ที่มีความต้องการอย่างเร่งด่วน โดยการประมูลคลื่นความถี่ในปี 2558 ควรจะประมูลคลื่นที่นำมาจัดสรรได้มากที่สุดทั้งความถี่ที่ว่างและไม่ได้ใช้งาน ดังนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ประมูลคลื่น 900MHz และ 1800MHz ที่อยู่ในแผนแค่นั้น แต่ควรนำคลื่น 1800MHz อีกจำนวน 25MHz ที่ดีแทคแสดงความประสงค์ที่จะมอบคืนเพื่อนำไปประมูลร่วมกัน

สำหรับการให้บริการ 4จี ไม่ใช่เพียงแค่คลื่นความถี่สูง 1800MHz เท่านั้น แต่ควรต้องรวมถึงย่านคลื่นความถี่ต่ำ ได้แก่ 850MHz และ 900MHz ที่สมควรอย่างยิ่งที่จะถูกนำมาใช้ให้บริการงานด้านโทรคมนาคม ซึ่งเป็นการนำคลื่นความถี่ซึ่งทรัพยากรของประเทศมาใช้งานได้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และ คลื่นความถี่ทั้งหมดที่จะถูกนำไปประมูลควรจะเป็นช่วง 2x5 MHz หรือ 2x10 MHz เพราะเป็นขนาดของช่วงความถี่ที่เหมาะสมในเชิงเทคนิคกับการให้บริการดาต้าความเร็วสูง

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส กล่าวว่า เอไอเอสพร้อมเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ 4จี ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยเติบโตเท่านานาอารยประเทศ หากพิจารณา ถึงปริมาณความต้องการใช้ดาต้ามีปริมาณค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันไทยมีคลื่นความถี่อยู่ ไม่ว่าจะ เป็นคลื่น 850 MHz 900 MHz และ 1800 MHz ซึ่งสามารถนำออกมาประมูลและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ด้าน นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งจัดสรรคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz ที่เป็นทรัพยากรของประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการวางแผนและการนำคลื่นความถี่ที่มีทั้งหมดมาจัดสรรใหม่อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศให้พร้อมเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค อีกทั้งโครงข่ายโทรคมนาคมเช่นโมบายบรอดแบนด์ ถือเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคมในยุคดิจิทัล เช่นเดียวกับสาธารณูปโภครถไฟความเร็วสูงของประเทศ

อย่างไรก็ตาม การประมูลเป็นเพียงแค่แนวทางหนึ่งในการจัดสรรคลื่นความถี่ ที่อาจไม่ได้นำมาซึ่งประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริงสำหรับคนไทย เนื่องจากการประมูลจะทำให้มีภาระมากขึ้นในการลงทุนเทคโนโลยีและโครงข่าย ซึ่งสุดท้ายประชาชนผู้ใช้บริการจะได้รับผลกระทบจากค่าบริการที่สูงขึ้น ตลอดจนความล่าช้าในการลงทุนโครงข่ายและเทคโนโลยีใหม่ ทั้งนี้ คลื่นความถี่ทั้งหมดควรจัดสรรเป็นช่วง 5 MHz และ 10 MHz ซึ่งเป็นขนาดของช่วงความถี่ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งาน

นายซิคเว่ เบรคเก้ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค กล่าวว่า จำนวนผู้ใช้งานดาต้าและจำนวนการใช้งานดาต้าในประเทศไทยจะเติบโตต่อเนื่อง โดยอัตราการใช้งานสมาร์ทโฟน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจาก 35% ในปี พ.ศ. 2557 เป็น 61% ในปี พ.ศ. 2560 ดังนั้น การใช้งานโมบายล์ดาต้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าในทุกๆ ปีในช่วง 2-3 ปีนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานดาต้าที่เติบโตสูงอย่างรวดเร็ว จึงต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับการปลดล็อกคลื่นความถี่

"ทางออกที่เราขอเสนอในวันนี้จะช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุดตรงกับความต้องการใช้งานสำหรับลูกค้า รัฐบาลและสังคมโดยรวม ดังนั้น การประมูลคลื่นความถี่ในปี พ.ศ. 2558 สำหรับการนำคลื่นความถี่ที่ว่างและไม่ได้ใช้งาน ตลอดจนถึง การนำย่านคลื่นความถี่ต่ำ ได้แก่ 850MHz และ 900MHz มาใช้ให้บริการงานด้านโทรคมนาคมอันจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับภาครัฐที่ต้องการนำบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและการติดต่อสื่อสารสู่สังคมเมืองและชนบททั่วประเทศ"นายซิคเว่กล่าว