posttoday

สไมล์ แอท ราชประสงค์กิจกรรมฟื้นท่องเที่ยวไทย

11 มิถุนายน 2553

สไมล์ แอท ราชประสงค์ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 ก.ค.นี้ บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง

สไมล์ แอท ราชประสงค์ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 ก.ค.นี้ บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง

โดย...ทีมข่าวธุรกิจตลาด

สี่แยกราชประสงค์ กลายเป็นสถานที่ที่รู้จักของทั่วโลก หลังกลุ่มคนเสื้อแดงใช้เป็นสถานที่ชุมนุมกว่า 2 เดือน จนเกิดจลาจลกลางเมืองขึ้นเมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายทางระบบเศรษฐกิจและภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยอย่างมหาศาล ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงร่วมมือกับสมาคมวิสาหกิจย่านราชประสงค์ พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ทำราชประสงค์ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ผ่านงาน “สไมล์ แอท ราชประสงค์”

ชุมพล ศิลปอาชา รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า งานสไมล์ แอท ราชประสงค์ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 ก.ค.นี้ บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง โดยจะมีคอนเสิร์ตตลอด 3 วัน 3 คืน จากศิลปินทุกค่ายของประเทศไทย เช่น ศิลปินค่ายแกรมมี่ เจ-เจตริน วรรธนะสิน ไมโคร ฯลฯ ซึ่งหวังว่าภาพดังกล่าวจะเผยแพร่ออกสู่ต่างประเทศ ให้เห็นถึงความพร้อมของสถานที่และความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง

สไมล์ แอท ราชประสงค์กิจกรรมฟื้นท่องเที่ยวไทย ภาพประกอบข่าว

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าย่านดังกล่าว เช่น เกษร อัมรินทร์พลาซ่า จะจัดลดราคาสินค้ากว่า 80% พร้อมจัดคูปองชิงโชคห้องพักโรงแรมฟรี จำนวน 300 รางวัล โดยนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าครบ 1,000 บาท จะได้สิทธิรับคูปองชิงโชค ซึ่งจะเป็นหนึ่งในกิจกรรมสไมล์ ซัพพอร์ต ช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตทางการเมือง ส่งผลให้นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติเดินทางลดลง

“แคมเปญจะช่วยฟื้นฟูภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวของไทย และช่วยดึงนักท่องเที่ยวให้กลับมาเดินทางลงพื้นที่”

ด้านเพ็ญสุดา ไพรอร่าม รองผู้ว่าการด้านสินค้าและกิจกรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ฝ่ายสินค้าจะได้งบประมาณการกระตุ้นท่องเที่ยวฉุกเฉิน ราว 195 ล้านบาท จากงบประมาณจำนวน 360 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้งบ แต่ ททท.ได้ปรับแผนการใช้งบประมาณประจำปี 2553 แทน โดยเตรียมใช้งบ 50 ล้านบาท จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านกิจกรรมตามความต้องการของนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่ม เช่น ครอบครัว เยาวชน ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น ดนตรี |ช็อปปิ้ง ซึ่ง ททท.จะเปิดโครงการอะเมซิ่ง ไทยแลนด์ แกรนด์ เซลส์ ในกลางเดือนนี้

สำหรับการจัดกิจกรรมที่ราชประสงค์ ททท.ใช้งบรวม 30 ล้านบาท เพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อและการจัดกิจกรรม โดยร่วมมือกับพันธมิตร เช่น บริษัท การบินไทย ธนาคารกสิกรไทย ฯลฯ ซึ่งคาดว่าตลอดการจัดงาน 3 วัน จะมีนักท่องเที่ยวลงพื้นที่ 5 แสนคน รายได้สะพัดกว่า 500 ล้านบาท โดย ททท. มีแผนจัดงานในลักษณะดังกล่าวตามพื้นที่อื่นๆ เช่น สไมล์ แอท พาร์ก เช่นที่ สวนเบญจสิริ สยามพารากอน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีแผนจัดงานท่องเที่ยว 5 ภูมิภาค เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวทั่วประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม การจัดงานในลักษณะดังกล่าวนั้นจำเป็นต้องรองบกระตุ้นการท่องเที่ยวฉุกเฉิน ซึ่งยังไม่ผ่านการเห็นชอบจาก ครม. ทำให้อาจจะต้องเลื่อนการจัดงานทั้งสองงานที่คาดว่าจะจัดในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. ออกไปก่อน

ขณะที่มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการท่องเที่ยวนั้น ชุมพล กล่าวว่า ในวันที่ 11 มิ.ย.นี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะประชุมหารือร่วมกับ ททท. ภาคเอกชน สมาคมด้านการท่องเที่ยวต่างๆ เช่น สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตตา) สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) สหพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย (เฟตตา) เพื่อวางมาตรการเยียวยาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยว รวมถึงกำหนดกรอบแผนงานให้มีความชัดเจนถึงงบประมาณที่ต้องการขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ครม.ไม่ผ่านงบช่วยเหลือที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ขอไป

“การทำแผนของบครั้งนี้ ต้องระบุรายละเอียดให้ชัดเจนว่าแผนงานนี้ งบนี้จะช่วยดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนเท่าใด เมื่อไหร่ ต้องมีความละเอียดเหมือนกับการของบประมาณกับสำนักงบประมาณ เพื่อนำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้งในวงเงินเท่าเดิม แบ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่และรายเล็ก 1 หมื่นล้านบาท และ ททท.อีก 1,600 ล้านบาท โดยยอมรับว่าการเสนอครั้งที่ผ่านมากรอบการทำงานอาจไม่ชัดเจนนัก” ชุมพล กล่าว

กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยืนยันว่า การขอวงเงินความช่วยเหลือจะยืนเป้าวงเงินที่ 1 หมื่นล้านบาท และงบกระตุ้นการท่องเที่ยวฉุกเฉินอีก 1,600 ล้านบาท โดยจะไม่ลดวงเงินแต่อย่างใด