posttoday

“ช่วง เรืองจันทร์” ชายพิการผู้ไม่ท้อต่อการทำความดี

08 ธันวาคม 2557

เมื่อเอ่ยถึงผู้อุทิศตนแก่สังคมอันเป็นที่ประจักษ์ ชื่ออันดับแรกๆ คงหนี ไม่พ้น "มีชัย วีระไวทยะ" หรือมิสเตอร์คอมดอม นักรณรงค์ด้านพัฒนาประชากรและครอบครัว และดำรงตำแหน่งนายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน หนึ่งใน 7 องค์กรเพื่อสังคมที่ได้รับการสนับสนุนจากตลาดหลักท

เมื่อเอ่ยถึงผู้อุทิศตนแก่สังคมอันเป็นที่ประจักษ์ ชื่ออันดับแรกๆ คงหนี ไม่พ้น 

"มีชัย วีระไวทยะ" หรือมิสเตอร์คอนดอม นักรณรงค์ด้านพัฒนาประชากรและครอบครัว และดำรงตำแหน่งนายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนหนึ่งใน 7 องค์กรเพื่อสังคมที่ได้รับการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายใต้โครงการ SET เชิดชูผู้ทำความดีเพื่อสังคม โครงการเพื่อสังคมซึ่งดำเนินการเป็นปีที่ 8 เพื่อเชิดชูเกียรติผู้ทำความดี สร้างความภาคภูมิใจ แก่ผู้ทำความดีเพื่อเป็นแบบอย่างการทำความดีของสังคมไทยที่เป็นรูปธรรม

ในปีนี้คณะกรรมการสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ได้คัดเลือกให้สมาคมคนตาบอด จ. พัทลุง 

ซึ่งมีนายช่วง เรืองจันทร์ ดำรงตำแหน่งนายกสมาคม ได้รับรางวัล “มีชัย วีระไวทยะ” ในฐานะผู้ทำความดีเพื่อสังคมสาขาการพัฒนาสังคมชนบท ประจำปี  2557  โดยการสนับสนุนจากตลท.

“ช่วง เรืองจันทร์”  ชายพิการผู้ไม่ท้อต่อการทำความดี นายช่วง เรืองจันทร์ ผู้ได้รับรางวัลมีชัย วีระไทยะ สาขาการพัฒนาสังคมชนบท ปี 2557

การทำความดีนั้นไม่มีข้อจำกัด เช่นเดียวกับลุงช่วง ชายวัยใกล้ฝั่ง แม้อายุอานามก็เขาเลขเจ็ดแล้ว ทั้งยังประสบปัญหาพิการทางสายตา แต่สิ่งเหล่านี้หาได้เป็นอุปสรรคต่อการอุทิศตนเพื่อรับใช้สังคมแม้แต่น้อย ในทางตรงกันข้าม เขากลับเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการพัฒนาสังคมและชุมชนอันที่รัก ด้วยแนวคิดที่ว่า “ประเทศจะดีได้ ต้องเริ่มจากสังคมที่ดี”

“ผมรับไม่ได้ที่จะต้องทนเห็นความไม่เป็นธรรมในสังคม ผมทนดูการกระทำเหล่านั้นไม่ได้ ชีวิตของประชาชนตาดำๆ จะอยู่อย่างไรในสังคมนี้” ลุงช่วงกล่าวอย่างหนักแน่นแสดงถึงความอัดอั้นที่มีต่อสังคม ซึ่งลุงช่วงได้ประสบมาในช่วงชีวิตที่รับใช้สังคมในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์และข้าราชการกรมที่ดิน

ลุงช่วงประสบอุบัติเหตุจนทำให้โลกของเขามืดทันทีทันใด แต่นั่นไม่สามารถดับไฟในใจที่ต้องการพัฒนาชุมชนและสังคมของเขาได้เลย ระหว่างการพักฟื้น ผู้คนเข้ามาเยี่ยมเยียนลุงช่วงมากมาย แต่ส่วนใหญ่แล้วมาเพราะผลประโยชน์ ด้วย การยืมเงิน 300 บ้าง 500 บ้าง แม้การกระทำดังกล่าวจะดูทำร้ายจิตใจ แต่ลุงช่วงกลับมองเห็นโอกาสที่จะพัฒนาสังคมด้วยการแก้ไขรากฐานของปัญหา นั่นคือ การขาดซึ่งองค์ความรู้ในการจัดการทางการเงินเพื่อการดำรงชีพอย่างยั่งยืน การกู้ยืมทรัพย์สินเงินทองเพื่อความสุขเพียงข้ามคืน

ลุงช่วงจึงได้ปรึกษากับกลุ่มเพื่อน จัดตั้งกองทุนเล็กๆ ชื่อว่าทุนส่งเสริมอาชีพ โดยให้ครอบครัวในชุมชนนั้นๆ สามารถกู้เพื่อไปเป็นฐานในการประกอบอาชีพได้ครอบครัวละไม่เกิน 2,000 บาท ขณะเดียวกัน ลุงช่วงได้ให้ความรู้ในการอดออมจากกำไรที่เกิดขึ้น จนพัฒนาเป็น “กองทุนสัจจะพัฒนาอาชีพ” โดยให้คนในชุมชนที่สนใจระดมทุนในกองทุนดังกล่าวในลักษณะหุ้น หุ้นละ 5-6 บาท ซึ่งปัจจุบันกองทุนดังกล่าวมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก จนพัฒนาเรื่อยมาเป็นสหกรณ์เครดิตยูเนียนที่มีสมาชิกกว่า 550 คน เงินทุนหมุนเวียนกว่า 30 ล้านบาท

ปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่คนตาบอดล้วนประสบพบเจอ บางครอบครัวเลี้ยงตามมีตามเกิด สวัสดิภาพของผู้พิการหายไปโดยไร้การดูแล จนผู้พิการเหล่านี้ดูด้อยค่า เป็นพลเมืองชั้นสองในสังคม และเกิดปัญหาเร่ร่อนขอทานตามมา

“ช่วง เรืองจันทร์”  ชายพิการผู้ไม่ท้อต่อการทำความดี ลุงช่วงและสมาชิกของสมาคมคนตาบอดที่เข้าโครงการ “พี่สอนน้อง”

สิ่งที่จะทำให้คนตาบอดเข้มแข็งขึ้น คือ ผู้พิการทางสายตาในชุมชนต้องร่วมมือกัน ด้วยสายเลือดนักพัฒนาของลุงช่วง ได้ติดต่อกับสมาคมคนตาบอดจากส่วนกลางให้สามารถก่อตั้งใน จ.พัทลุง ได้ โดยลุงช่วงเป็นหัวหอกในการจัดตั้งกองทุนสำหรับคนตาบอด สมาชิกสามารถฝากเงินเมื่อไรก็ได้ แต่ห้ามถอนออก แต่หากมีความจำเป็น ให้ใช้วิธีการกู้เงิน แล้วผ่อนใช้เป็นงวดๆ เพื่อให้เขาเหล่านั้นมีเงินออม ขณะเดียวกันก็จัดคอร์สสร้างงานด้วยการสอนนวดไทย ผ่านโครงการ “พี่สอนน้อง” ซึ่งเป็นงานที่คนตาบอดสามารถทำได้ และมีรายได้ดีกว่าการไปรับจ้างล้างจานวันละ 20 บาท นี่จึงเป็นวิธีที่ทำให้คนตาบอดสามารถลืมตาอ้าปากได้

“พัทลุงจะต้องปลอดบอดขอทาน” นี่คือปณิธานที่ลุงช่วงตั้งไว้ และปัจจุบันได้กลายเป็นความจริงแล้ว ปัจจุบันสังคมในชุมชนที่ลุงอยู่มีความเข้มแข็งมากขึ้นด้วยการเงินชุมชน เมื่อสมาชิกในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น คุณภาพของชุมชนก็ดีขึ้น ปัญหาอาชญากรรมก็ลดลง เมื่อชุมชนดีขึ้น สังคมก็ดีขึ้น และส่งผลต่อประเทศชาติโดยรวม

ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่เล็งเห็นถึงความสาคัญในการร่วมพัฒนาสังคม เงินที่ได้รับการสนับสนุนดังกล่าว เขาจะนำมาต่อยอดในโครงการศูนย์พัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ ด้วยเห็นว่าผู้สูงอายุจะมีจำนวนมากขึ้น และคนกลุ่มนี้ก็ต้องการการพัฒนาทั้งร่างกายและจิตใจ การพัฒนาอาชีพแก่ผู้สูงอายุจะช่วยเข้ามาแก้ปัญหาและทำให้พวกเขาอยู่รอดได้อย่างแข็งแรงทั้งกายและใจ

เรื่องราวการอุทิศตนแก่สังคมของลุงช่วง เรืองจันทร์ ได้กระตุ้นให้คนในสังคมได้ฉุกคิดว่า “ความบกพร่องทางร่างกายและข้อจำกัดบางอย่างในชีวิต ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำความดีเพื่อผู้อื่น” กระทั่งได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็น “ต้นแบบคนพิการไทย”

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก www.set.or.th/th/news/csr/csr_p1.html