posttoday

ครม.ผ่านร่าง พ.ร.บ.เวนคืนสร้างสายสีเขียว

29 ตุลาคม 2557

ครม.อนุมัติ พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์สร้างรถไฟฟ้าสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ชี้ถือเป็นกฎหมายบังคับซื้อที่ดินที่เจ้าของที่มีปัญหา 7 แปลง พร้อมผ่าน พรฎ.เปิดทางสำรวจรถไฟฟ้า 4 สาย

ครม.อนุมัติ พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์สร้างรถไฟฟ้าสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ชี้ถือเป็นกฎหมายบังคับซื้อที่ดินที่เจ้าของที่มีปัญหา 7 แปลง พร้อมผ่าน พรฎ.เปิดทางสำรวจรถไฟฟ้า 4  สาย

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2557  ได้อนุมัติร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างกิจการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ในท้องที่อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ 

ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีเขียวนี้จะเกี่ยวข้องกับการเวนคืนที่จากเอกชน 83 แปลง โดยในนี้เป็นที่ดินที่เจ้าของมีการตกลงกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) แล้ว 76 แปลง ส่วนอีก 7 แปลงได้มีการวงเงินทดแทนให้แล้วแต่ยังไม่สามารถตกลงทำสัญญา ดังนั้นหากฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ก็จะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ไปเจรจาเพื่อเวนคืนและสามารถดำเนินการก่อสร้างในโครงการต่อไป 

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า  ที่ประชุม ครม. ยังได้อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน และร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะดำเนินการสร้างโครงการรถไฟฟ้า สำหรับรถไฟฟ้า 4 สาย ตามที่กระทรวงคมนาคม   ซึ่งกฎหมายนี้ออกมาเพื่อให้อำนาจเจ้าหน้าให้สามารถตรวจสอบสภาพพื้นที่สำหรับการสร้างทางรถไฟฟ้า และวางแผนและออกแบบ

ทั้งนี้รถไฟฟ้าทั้ง 4 สายกประกอบด้วย 1.สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ระยะทางรวม 29.1 กม. มีจำนวน 23 สถานี มีที่ดินที่จะต้องจัดกรรมสิทธิ์ และมีอาคารและ   สิ่งปลูกสร้างที่ต้องรื้อถอนประมาณ 184 หลัง 

2.สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 21.2 กม.  มีลักษณะเป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับประมาณ 9 กม. และใต้ดินประมาณ 12.2 กม. มีทั้งหมด 17 สถานี แบ่งเป็นสถานียกระดับ 7 สถานี และใต้ดิน 10 สถานี มีที่ดินที่จะต้องเวนคืนตามแนวเส้นทาง สถานีและอาคารจอดรถประมาณ 594 แปลง และต้องรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างอาคารประกอบ 222 หลัง  

3. โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแครายถึงมีนบุรี  ระยะทาง 36 กิโลเมตร และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต – คูคต 18.4 กิโลเมตร  ซึ่งทั้ง 2 สายเจ้าหน้าต้องลงพื้นที่ตรวจประเมินก่อนจึงจะทราบที่ดินที่ต้องจัดการกรรมสิทธิ์ รวมถึงอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ต้องรื้อถอน 

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่กระทรวงคมนาคมได้เสนอให้ ครม.อนุมัติ พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ นั้น  เมื่อกฎหมายออกมาแล้วจะทำให้รัฐสามารถมีอำนาจบังคับซื้อที่ดินจากเจ้าของทั้ง 7 รายที่ยังไม่สามารถตกลงขายที่ให้กับ รฟม. ได้

ทั้งนี้ ตลอดเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวจากแบริ่งถึงสมุทรปราการนั้นมีที่ดินที่ต้องจัดการกรรมสิทธิ์แบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ ที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นส่วนที่จัดการเรียบร้อยแล้วเนื่องจากเป็นที่ดินราชพัสดุ จำนวน 18 แปลง  และที่ศาสนาสมบัติกลาง 1 แปลง เป็นพื้นที่ของวัดสำโรง (เป็นวัดร้าง)  โดยสำนักพุทธศาสนา  

ส่วนที่2 เป็นที่เอกชนที่เจรจาทำการขายที่ให้กับ รฟม. แล้ว 76 แปลง โดยในนี้ทำสัญญาซื้อขายและโอนเป็นของ รฟม.แล้ว 66 แปลง อีก 10 แปลงทำสัญญาซ้อข่ายแล้วและอยู่ระหว่างรังวัดแปลงของสำนักงานที่ดิน

สุดท้ายคือ  ส่วนที่เอกชนที่ยังมีปัญหา รฟม. วางเงินค่าทดแทนแต่เอกชนไม่ยินยอมทำสัญญาขาย 7 แปลง  ซึ่งส่วนนี้จะเป็นส่วนที่สามารถใช้กฎหมายเข้าไปบังคับซื้อได้ ได้แก่ 1.ที่ดินของ นางสาย จันทร์มงคล และนายชัยสิทธิ์ เอี่ยวยิ่งพาณิชย์ ถือครองที่ดิน 1 ไร่ 3 งาน  33.8 ตรว. รัฐต้องการเวนคืน  85 ตรว.

2.นายวิสิทธิ์ เอื้อรักษ์วงชัย ถือครอง 1 ไร่ รัฐจะขอเวนคืน 48 ตรว. 3.นายสว่าง ตั้งทองทวี  ถือครอง 3 งาน 48 ตรว.  4.นางประภาพันธ์ ที.วินสัน ถือครอง 1 ไร่ 3 งาน 3 ตรว. รัฐต้องการเวนคืนทั้งหมด  5.นายสมาน ตั้งทองทวี  ถือครอง 1 ไร่ 96 ตรว. รัฐต้องการเวนคืนทั้งหมด   6.นางกิมพงษ์ ไกรกาญจน์ และนายกิมแซ แซ่ตั้ง  ถือครอง 6 ไร่ 1 งาน 40 ตรว. รัฐต้องการเวนคืน 3 งาน 11.6 ตรว.   อและ7.นายวิสาร วิวัฒรางกูล ถือครอง 3 งาน 18 ตรว. รัฐต้องการเวนคืน 12.1 ตรว.

“76 แปลงเขาสามารถตกลงซื้อขายได้ ส่วนที่เหลืออีก 7 แปลงมีการเจรจาไปแล้วหลายรอบ มีการวางเงินค่าทดแทนไปแล้วแต่ยังทำสัญญากันไม่ได้ เมื่อกฎหมายออกมาแล้วจะต้องมีการเข้าไปดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้การลงทุนเดินหน้าได้และประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์” แหล่งข่าว กล่าว