posttoday

"พยากรณ์อากาศ" สงครามเล็กๆ ของฟรีทีวีไทย

26 ตุลาคม 2557

"ข่าวพยากรณ์อากาศ" ช่วงสั้นๆในรายการข่าวที่มีการแข่งขันมากกว่าที่คิด

โดย... นรินทร์ ใจหวัง

หากตั้งคำถามว่าในบรรดาข่าวทั้งหมด ข่าวอะไรที่คนสนใจมากที่สุด แน่นอนว่าข่าวพยากรณ์อากาศคงไม่ใช่หนึ่งในคำตอบเหล่านั้นอย่างแน่นอน เพราะหลายคนมีความเชื่อที่ว่าว่าข่าวพยากรณ์อากาศในประเทศไทยไม่แม่นยำ ขณะที่บางคนมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว

ทว่าช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รายการข่าวในช่องฟรีทีวีเกือบทุกช่องพยายามเปลี่ยนแปลง ปรับตัวเพื่อแข่งขันกับช่องทีวีน้องใหม่ที่มีมากขึ้น ซึ่งในช่วงเวลาข่าวพยากรณ์อากาศถึงแม้จะเป็นห้วงเวลาสั้นๆ แต่ก็ถูกปรับให้น่าสนใจยิ่งขึ้น โดยสาเหตุหนึ่งก็เพื่อให้ผู้ชมตระหนักถึงความจำเป็นในการเสพข่าวประเภทนี้

ลองมาดูกันว่าในบรรดาข้อมูลการพยากรณ์อากาศทั้งหมดซึ่งต้องมาจากแหล่งเดียวกันคือ กรมอุตุนิยมวิทยานั้น ในแต่ละช่องมีการนำเสนอที่แตกต่างกันไปอย่างไรบ้าง

ฝน ฟ้า อากาศ จากสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7  ที่ถูกโจทย์ขานเพราะสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่วงการข่าวพยากรณ์อากาศมากที่สุด ส่วนนักข่าวที่สร้างปรากฏการณ์ในครั้งนี้ก็คือ เปรมสุดา สันติวัฒนา ดีกรีนักศึกษาปริญญาโท จากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาวเก่งที่สร้างรอยยิ้มและความแปลกใหม่ด้วยลีลาการอ่านข่าวที่ฉีกกฎเดิมๆ ทิ้งหมด บวกกับการแต่งตัวจัดจ้านเข้ากับสถานการณ์ที่กำลังอยู่ในกระแส พร้อมกับเทคโนโลยีภาพแบบเวอร์ชวล สตูดิโอ ที่ทำให้การพยากรณ์อากาศดูง่าย เข้าใจได้มากขึ้น แม้จะใช้เวลาสั้นๆ ในการเสนอข่าวก็ตาม 

ชมคลิป http://youtu.be/FsaE61yuD4k

ทีวี360 องศา สถานีโทรทัศน์ช่อง3 โดย ธนินวัฒน์ พัฒนวีรคุณ  เจ้าของท่านิ้วชี้หมุนทวนเข็มนาฬิกา พร้อมคำติดปาก “เพราะนี่คือทีวีสามมมมม ร้อยหกสิบองศา สวัสดีครับ”  เป็นอีกหนึ่งรายการพยากรณ์อากาศที่สร้างเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ถึงแม้ว่าการแต่งกายของผู้ประกาศข่าวจะเป็นแบบสากลเคร่งขรึม แต่ความน่าสนใจของรายการนี้ นอกจากความถี่ของการออกอากาศแล้ว สกู๊ปเสริมที่เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวคล่องกับสภาพอากาศ ทำให้รายการดูใกล้ตัวและไม่น่าเบื่อ ก่อนที่จะปิดท้ายด้วยการพยากรณ์อากาศที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย ในบางครั้งก็มีการเสนอข่าวสภาพอากาศของประเทศใกล้เคียง ที่มีผลกระทบต่อสภาพอากาศประเทศไทยบ้างด้วย

ชมคลิป http://youtu.be/mxv0MWZvLm8

ลม ฟ้า อากาศ เป็นช่วงข่าวพยากรณ์อากาศ ของช่อง9 MCOT ซึ่งแต่ก่อนจะแสดงเพียงตัวหนังสือให้ผู้ชมดูว่าแต่ละที่ มีสภาพอากาศเป็นอย่างไร ไม่พึ่งพาพิธีกร ก็ได้เวลาปรับเปลี่ยนให้มีผู้ประกาศข่าวที่ความสวยดีกรีอดีตดาราอย่าง อำไพรัตน์  เตชะภูวภัทร สาวสวยในชุดทันสมัยเป็นตัวดึงดูด ประกอบกับกราฟฟิกที่พัฒนาให้น่าสนใจขึ้น ถึงแม้การนำเสนอไม่หวือหวา แต่ความสดใสของผู้ประกาศข่าวก็ดึงดูดความสนใจคนดูได้มากขึ้นที่เดียว 

ชมคลิป http://youtu.be/qjwACeTuvFc

ลม ฟ้า พยากรณ์ สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ททบ.5 ที่นำ2ฝาแฝด แตง-เตย สุหัชชา-สุนิดา สวัสดิพรพัลลภ ผู้ประกาศที่มีบุคลิก สดใส น่ารัก มาเป็นผสานพลังช่วยกันอ่านข่าวพยากรณ์อากาศ ที่ใช้เทคโนโลยี เวอร์ชวลสตูดิโอ มาประกอบด้วย บวกกับการแต่งกายน่ารัก สดใส และการนำเสนอที่ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป ที่มาพร้อมกับคำพูดประจำตัวอย่าง “ไม่ว่าจะมีฝน หรือมีแดด อย่าลืมมาตรวจสอบกับแฝด ฝน ฟ้า พยากรณ์” ก็ช่วยให้การติดตามข่าวประเภทนี้ดูน่าสนใจมากขึ้น

ชมคลิป http://youtu.be/eB0hlUuxpK8

พยากรณ์อากาศ ThaiPBS โดย ธนวรรณ มิลินทสูตร ถึงแม้จะคงไว้ซึ่งการรายงานสภาพอากาศ ที่เป็นลักษณะแบบเดิมมากที่สุด ทว่าผู้ชมหลายๆคน ยังชื่นชอบความเรียบง่ายในแบบนี้อยู่ก็มากเช่นกัน

ชมคลิป http://youtu.be/2nbJTozWakA

เปรมสุดา สันติวัฒนา ผู้ประกาศข่าวพยากรณ์อากาศสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 กล่าวว่า ว่าแต่ก่อนทางช่อง7 ก็ไม่มีการรายงานข่าวพยากรณ์อากาศที่ใช้คน เพียงแต่เป็นการรายงานเป็นตัวหนังสือว่าทางกรมอุตุนิยมวิทยาว่าอย่างไรบ้างเท่านั้น ทางผู้บริหารจึงมองว่าจริงๆ แล้ว ข่าวพยากรณ์อากาศ ซึ่งมีความสำคัญต่อผู้ชม จึงคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้ข่าวที่คนมองว่าน่าเบื่อ กลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากขึ้น ผนวกกับทางช่องมีเทคโนโลยีเวอร์ชวล สตูดิโอเข้ามาพอดี จึงเริ่มปรับขึ้นมาเรื่อยๆ โดยเน้นให้มีผู้ประกาศข่าว ซึ่งไม่ต้องดูเคร่งขรึมมากนัก นำเสนอให้เข้าใจง่าย สบายๆ  ทว่าเนื้อหายังคงไว้ซึ่งความเคารพในคำพยากรณ์ของกรมอุตุนิมยมฯ

กว่าจะประสบความเร็จเท่าทุกวันนี้ ในช่วงแรกเปรมสุดายอมรับว่าต้องสู้กับผู้ชมไม่ชอบที่มองว่า “เยอะ” เกินไป อยู่นาน

"แต่ก่อนฝน ฟ้า  อากาศ ไม่ได้หวือหวาอะไรมาก ก็จะมีพร็อพเล็กๆ น้อยๆ อย่างร่ม มาประกอบบวกกับฉากที่มันเปลี่ยนตลอด แต่หลังๆ อย่างในวันสำคัญก็เริ่มมีการแต่งชุดให้เข้ากับสถานการณ์มากขึ้น ในแง่ผู้ประกาศข่าวก็ต้องหาข้อมูล ตัวเลขสถิติ เพื่อประสานกับฝ่ายกราฟฟิก  มีการคุยกันในแต่ละวันว่าจะใช้ธีมอะไร ปรับเปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ กลายเป็นหลังๆ คนเริ่มรอดูมากขึ้น เราก็ไม่อยากทำให้คนผิดหวังด้วย ซึ่งเรตติ้งก็ ดี ขึ้นตลอด มีคนให้ความสำคัญ

เมื่อรายงานของเราเป็นที่พูดถึง เราก็รู้สึกว่าภูมิใจที่เราได้ทำงานเป็นทีมได้ ทำให้4 นาทีออกมาได้ขนาดนี้ มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย ฉะนั้นถึงแม้จะมีคนชอบงานเราเพียงสักอย่างเดียว เช่น วันนี้ชอบเสื้อผ้าจัง หรือแต่งหน้าสวย เราก็ภูมิใจแล้วค่ะ"

ผู้ประกาศข่าวสาว ยืนยันว่าข่าวพยากรณ์อากาศมีความสำคัญกับคนทุกคน เพราะคือการคาดการณ์ล่วงหน้า ถึงแม้จะไม่ใช่ 100%เต็ม แต่ก็สามารถช่วยให้คนได้รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น และควรเตรียมตัวอย่างไร

แต่ก่อน ร้อน ฝน หนาว มีแค่3 ฤดู แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว เรื่องของอากาศมันใกล้ตัวนะคะ แปรปรวน และไม่เหมือนอย่างที่เราเคยรู้ๆ มา จึงมีความสำคัญกับคนมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องดีที่หลายช่องมีการปรับเปลี่ยน ให้คนดูสนใจ หลายๆ ครั้งที่ศัพท์มันฟังดูเข้าใจยาก เช่น ความกดอากาศสูง  มวลอากาศเย็น หย่อมอะไรทั้งหลาย มันเป็นหน้าที่หนึ่งของคนนำเสนอ ว่าเราจะทำอย่างไร ซึ่งเทคโนโลยี ก็เอื้อกันไปหมด ช่วง 4 ปี พัฒนาขึ้นเปลี่ยนไปมาก

"แต่ก็เข้าใจว่าที่หลายๆ คนยังมองว่าการพยากรณ์ไม่เห็นตรงเลย แต่ก่อนที่เรายังไม่ได้ทำตรงนี้ เราก็เห็นด้วยนะ คือน่าเบื่อ ไม่เห็นแม่นเลย แต่พอเราเข้าไปอบรมที่กรมอุตุนิยมฯ กลับรู้สึกว่าไม่เป็นแบบนั้นเลย ที่มันไม่ตรงร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเป็นตัวแปรด้วย แต่ภาพรวมก็เป็นประโยชน์ต่อคนโดยกว้าง"เปรมสุดากล่าว 

ด้าน คุปตนันต์ พิสิฐมหันต์ ผู้ประกาศข่าวพยากรณ์อากาศไทยรัฐทีวี ที่ถึงแม้จะเป็นผู้ประกาศข่าวในช่องทีวีน้องใหม่แต่ก็ให้มุมมองที่ว่า การปรับตัวในการนำเสนอข่าวประเภทนี้ให้มีความหลากหลายเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะตนเองถึงแม้เป็นผู้ประกาศข่าวพยากรณ์อากาศ แต่กลับมีความรู้สึกว่า ข่าวพยากรณ์อากาศเป็นเหมือนหลุมดำของช่วงเวลา เพราะคนดูไม่สนใจ ไม่อยากดู 

"ผมนำความโด่ดเด่นของแต่ละช่อง เช่นช่อง3 ช่อง7 มาประกอบปรับให้เป็นรูปแบบของตัวเองคือ มีกราฟฟิก เพื่อการอธิบาย ใส่ความรู้ลงไป  ซึ่งทั่วไปนักข่าวก็จะพูดตามข้อมูลกรมอุตุนิยมฯ ซึ่งใครๆก็สามารถไปดูตามเว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมฯ ก็ได้ แต่ผมจะวิเคราะห์ออกมา เพื่อใช้ประโยชน์กับชีวิตประจำวันมากที่สุด

"เช่น งานของผมแบ่งออกเป็น2ช่วง ตอนเช้า จะทำเนื้อหาออกแนวๆ ก่อนออกจากบ้าน เราควรเตรียมตัวอย่างไรกับสภาพอากาศดี เช้านี้ควรล้างรถมั้ย ซักผ้าดีรึป่าว ส่วนช่วงเย็นก็ต้องฮาร์ดคอร์นิดหนึ่ง แต่งกายเข้ากับเรื่องที่นำเสนอ  ผมก็เคยใช้อุปกรณ์อย่างร่ม บ้างครั้งก็แต่งตัวเหมือนออกไปนอกสถานที่อย่างกลางทุ่งนา

"ข่าวพยากรณ์เหมือนหลุมดำของช่วง เพราะเหมือนกันทุกช่อง เราจะทำอย่างไรเพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาสนใจ แล้วเราจะทำอย่างไรให้4นาทีโดยบอกให้คนรู้ในการประเมินตัวเอง ผมเชื่อว่ามันสำคัญมาก เพราะตอนนี้มีข่าวลือเกี่ยวกับเรื่องภัยพิบัติในอินเทอร์เน็ตก็มาก ผมเชื่อว่าอย่างไรควรดูทางช่องทีวีที่มีความน่าเชื่อถือจะดีกว่า"คุปตนันต์กล่าว