posttoday

เจ้าท่าให้บริษัทเรือด่วนสร้างท่าเรือเชื่อมระบบขนส่ง

22 กันยายน 2557

กรมเจ้าท่าให้บริษัทเรือด่วนเจ้าพระยาลงทุนดครงการพัฒนาท่าเรือ 9 แห่ง ในเชิงพาณิชย์ เชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะอื่น

กรมเจ้าท่าให้บริษัทเรือด่วนเจ้าพระยาลงทุนดครงการพัฒนาท่าเรือ 9 แห่ง ในเชิงพาณิชย์ เชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะอื่น

นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมเจ้าท่า(จท.) เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่าจะให้บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา เป็นผู้ลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือด่วนในแม่เจ้าพระยาทั้งหมด 9 แห่ง ในเชิงพาณิชย์และรองรับเชื่อมต่อกับระบบสาธารณะอื่นๆ แทนการเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอพัฒนาท่าเรือเป็นการทั่วไป เนื่องจากเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียว และยังจะช่วยให้การเชื่อมโยงระบบระหว่างเรือกับท่าเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“ตอนแรกจะเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลโครงการพัฒนาท่าเรือเป็นการทั่วไป แต่เมื่อพิจารณาเงื่อนไขแล้วถือเป็นไปได้ยาก เพราะต้องมีการติดตั้งระบบลิงค์สัญญาณระหว่างเรือด่วนเจ้าพระยากับท่าเรือเพื่อบอกผู้โดยสารว่าเรือจะมาถึงเมื่อไร จึงควรให้บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา เป็นผู้พัฒนาจะเหมาะสมที่สุด” นายจุฬา กล่าว

นายจุฬา กล่าวว่า ปัจจุบันการศึกษาและออกแบบท่าเรือทั้ง 9 แห่งเพื่อพัฒนาเป็นเชิงพาณิชย์เสร็จแล้ว เหลือเพียงผลการศึกษาความคุ้มค่าของการลงทุนของบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องมูลค่าการลงทุนและระยะเวลาการดำเนินโครงการที่เหมาะสมอีกครั้ง โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในเดือนต.ค. นี้ เบื้องต้นจะดำเนินการท่าเรือต้นแบบ 4-5 แห่งก่อน โดยจะเริ่มทยอยแล้วเสร็จในเดือน มี.ค. 2558

“กรมเจ้าท่าจะหารือกับกรมธนารักษ์ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่บริเวณหลังท่าเรือเพื่อเพิ่มหลักเกณฑ์การทำท่าเรือในพื้นที่ของกรมธนารักษ์ด้วย โดยจะขอเพิ่มหลักเกณฑ์ที่ 3 คือ การทำท่าเรือเพื่อให้เกิดการขนส่ง ที่ช่วยในเรื่องของการไขปัญหาการจราจรเข้าไป เพื่อให้พัฒนาเป็นเชิงพาณิชย์ได้ จากเดิมที่มีหลักเกณฑ์ 2 ข้อ คือ 1.ท่าเรือสาธารณะซึ่งใครก็สามารถใช้ได้ และ 2.กรณีเป็นเชิงพาณิชย์ จะต้องจ่าย 50% ของรายได้ให้กรมธนารักษ์เลย ซึ่งไม่มีผู้ประกอบการรายไหนสามารถให้บริการได้ และต้องปิดกิจการไปแล้วหลายราย”นายจุฬา กล่าว

นายจุฬา กล่าวว่า ภายหลังปรับปรุงท่าเรือเรียบร้อยแล้ว บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา ยังมีแผนจะนำเรือใหม่มาให้บริการ และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น โดยอาจจะเปิดให้บริการเรือด่วนวิ่งตรงระหว่างท่าเรือนนทบุรี-ท่าสาธร ไม่จอดที่ท่าเรืออื่น ซึ่งจะช่วยย่นระยะเวลาใช้บริการ และยังจะช่วยให้ประชาชนใช้บริการเรือด่วนเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยเบื้องต้นกรมเจ้าท่ามีงบประมาณในการลบทุนพัฒนาท่าเทียบเรือประมาณ 70 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในปีนี้ 14 ล้านบาท และปี 2558 จำนวน 59 ล้านบาท

ทั้งนี้ ท่าเรือด่วนเจ้าพระยาที่จะพัฒนาทั้ง 9แห่ง จะเป็นท่าเรือขนาดกลางที่มีผู้โดยสารมารอที่ท่า 50-150 คน ท่าเรือขนาดใหญ่ที่มีคนมารอที่ท่ามากกว่า 150 คน เช่น ท่าเรือนนทบุรี ท่าเรือบางโพ ท่าเรือเทเวศร์ ท่าเรือปิ่นเกล่า ท่าเรือสี่พระยา และท่าเรือสาธร เป็นต้น โดยเฉพาะท่าเรือนนทบุรีและท่าเรือสาธรที่มีผู้มาใช้บริการมากที่สุดถึง 20,000คน/วัน หลักการพัฒนาจะแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน คือท่าเรือสาธารณะซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถมาใช้ประโยชน์ได้ และท่าเรือด่วนเจ้าพระยาที่จะมีการพื้นที่เชิงพาณิชย์และเพิ่มระบบรักษาความปลอดภัย ด้วยการจัดโซนที่นั่งรอสำหรับผู้โดยสารแยกกับท่าเรืออย่างชัดเจน และติดตั้งระบบส่งสัญญาณระบุเวลาที่เรือด่วนจะมาถึงก่อนปล่อยให้ผู้โดยสารไปรอที่ท่า รวมถึงติดตั้งกล้องวงจรปิดและจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแก่ผู้โดยสาร

นอกจากนี้ ได้จัดสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น โทรทัศน์ ระบบตั๋วโดยสารแทนการจ่ายด้วยเงินสดซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้รายได้รั่วไหลและรองรับระบบตั๋วร่วมในอนาคต อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงท่าเรือในโครงการนี้จะไม่ส่งผลให้ค่าโดยสารเพิ่มขึ้น เพราะเอกชนจะมีรายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงมาพาณิชย์เป็นผลตอบแทนการลงทุน

นายจุฬา กล่าวต่อว่า ขณะนี้กำลังจะเปิดประมูลหาผู้บริหารท่าเรือศาลาลอยในแม่น้ำป่าสักรายใหม่ หลังจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เป็นผู้บริหารท่าเรือเดิมได้คืนสัมปทานมาให้ จท. เนื่องจากต้องแบ่งรายได้จากการบริหารท่าเรือกับกรมธนารักษ์ 50% จึงไม่คุ้มทุน

ทั้งนี้ ท่าเรือแห่งนี้เป็นท่าเรือที่มีการขนส่งสินค้ามากที่สุดในแม่น้ำป่าสัก โดยสินค้าหลักที่มีการขนถ่าย ได้แก่ ถ่านหิน ปุ๋ย และสินค้าเกษตร เช่น ข้าว มันสำปะหลัง เป็นต้น ขณะเดียวกันการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างจัดทำร่างประกาศเชิญชวนเข้าร่วมประมูล (ทีโออาร์)เพื่อใช้ประกวดราคาหาเอกชนรายใหม่เข้ามารับสัมปทานบริหารสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องลาดกระบัง(ไอซีดีลาดกระบัง) ภายในเดือน ต.ค. และจะขายซองประกวดราคาได้ในเดือน พ.ย. นี้ คาดว่าจะได้ผู้บริหารรายใหม่ภายในปีนี้ ทั้งนี้ เชื่อว่าเมื่อมีผู้บริหารรายใหม่แล้วจะทำให้การพัฒนาไอซีดีลาดกระบังมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาความไม่ชัดเจนเรื่องผู้บริหารโครงการทำให้ไม่มีเอกชนรายใดกล้าลงทุนพัฒนา