posttoday

แอร์พอร์ตลิงก์ยันยังไม่หยุดให้บริการ

16 กันยายน 2557

แอร์พอร์ตลิงก์ยันไม่หยุดเดินรถใน 2 เดือน เร่งใช้อะไหล่เก่าซ่อมและเพิ่มความถี่แทน ส่วนซ่อมใหญ่ต้องรอ 14 – 16 เดือน

แอร์พอร์ตลิงก์ยันไม่หยุดเดินรถใน 2 เดือน เร่งใช้อะไหล่เก่าซ่อมและเพิ่มความถี่แทน ส่วนซ่อมใหญ่ต้องรอ 14 – 16 เดือน

นายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว รองผู้ว่าด้านโครงสร้างพื้นฐาน การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะรักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ผู้ให้บริการเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ เปิดเผยว่า ยืนยันว่าแอร์พอร์ตลิงก์จะยังไม่หยุดให้บริการ แต่จะมีการเพิ่มความถี่และปรับซ่อมบำรุงขบวนรถไฟฟ้าแทนเพื่อเปิดบริการให้ได้ตามปกติ โดยขณะนี้มี 4 ขบวนที่ต้องจอดพักรอเพื่อรอการซ่อมใหญ่ เพราะวิ่งครบกำหนด 1.3 ล้านกม.แล้ว ซึ่งจะต้องใช้เวลาถึง 14–16 เดือน ส่วนที่วิ่งให้บริการอยู่มี 5 ขบวน จะวิ่งครบกำหนด 1.3 ล้านกม. ภายใน 2 เดือน จึงต้องเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการซ่อมบางส่วน และถอดอะไหล่จากขบวนรถไฟที่จอดพักมาเปลี่ยนเพื่อให้วิ่งได้แทน

ทั้งนี้ การเปิดซ่อมใหญ่  คณะกรรมการ ร.ฟ.ท. ให้ดำเนินการคัดเลือกผู้รับเหมาโดยใช้วิธีการประมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อีออคชั่น) ซึ่งหลังจากนี้ใช้เวลาดำเนินการ 4–5 เดือน บนเงื่อนไขว่าจะต้องไม่มีอุปสรรคใดๆ จากนั้นต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 1 เดือนเพื่อทำสัญญา จากนั้นผู้รับเหมาจะต้องใช้เวลาจัดหาอะไหล่อีก 7–8 เดือนถึงจะเริ่มซ่อมได้ โดยขบวนแรกจะซ่อมเสร็จภายใน 2 เดือน แต่ทั้งหมด 9 ขบวนจะเร่งซ่อมให้เสร็จภายใน 4 เดือน สรุปว่าขั้นตอนดำเนินการกว่าจะซ่อมเสร็จต้องใช้เวลาเกิน 1 ปี หรือไม่น้อยกว่า 14 – 16 เดือน

นายภากรณ์ กล่าวว่า ปัญหาเฉพาะหน้า คณะกรรมการ บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.ที่มีพล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร เป็นประธานได้ตั้งคณะกรรมการประเมินความเสี่ยงการให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ และจะมีการเจรจากับผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยเหลือและจัดหาอะไหล่บางส่วน เพื่อเร่งซ่อมรถไฟฟ้าทั้ง 5 ขบวน ให้สามารถหมุนเวียนบริการเฉพาะหน้าได้ ขณะนี้ได้เริ่มซ่อมโดยการถอดอะไหล่จากขบวนรถไฟที่จอดพักอยู่แล้ว ส่วนการสั่งซื้ออะไหล่บางจะจัดหาได้ต้นปี 2558 ดังนั้นรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ยังสามารถให้บริการได้ แต่มีการปรับเพิ่มความถี่การให้บริการทุก 15 นาที ในชั่วโมงเร่งด่วน และทุก 20 นาทีในช่วงปกติและวันหยุดด้วย

ในส่วนที่มีการซ่อมโดยใช้อะไหล่จากขบวนรถที่จอดพักเป็นการซ่อมนั้น เป็นหลักปกติที่ ร.ฟ.ท.ก็ทำเช่นนี้ และมีความปลอดภัยเต็มที่ เพราะชิ้นส่วนอะไหล่ที่ถอดมาใช้จะต้องมีการทดสอบให้ได้มาตรฐานก่อนนำมาใช้งาน ที่สำคัญขบวนรถที่จะนำออกวิ่งได้จะต้องได้รับการรับรองจากวิศวกรของบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ด้วย