posttoday

สถาบันยานยนต์เล็งดึงผู้ผลิตอะไหล่ลงทุนในไทย

01 มิถุนายน 2553

สถานบันยานยนต์เตรียมดึงผู้ผลิตอะไหล่และชิ้นส่วนยานยนต์เข้ามาลงทุนในไทย เพื่อลดการนำเข้าตั้งเป้าลดหารนำเข้าได้ 80% ภายใน 5 ปี

สถานบันยานยนต์เตรียมดึงผู้ผลิตอะไหล่และชิ้นส่วนยานยนต์เข้ามาลงทุนในไทย เพื่อลดการนำเข้าตั้งเป้าลดหารนำเข้าได้ 80% ภายใน 5 ปี

นายวัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการ สถาบันยานยนต์ เปิดเผยว่า เตรียมโรดโชว์ชักจูงการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมอะไหล่และชิ้นส่วนยานยนต์เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ที่ขยายตัวอย่างมาก  เนื่องจากที่ผ่านมาไทยต้องนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์เฉลี่ยปีละ 2 แสนล้านบาทและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้าหรือภายในปี 2557 โดยเบื้องต้นเน้นกลุ่มนักลงทุนจากญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมัน ซึ่งมีค่ายรถยนต์ระดับโลกเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยอยู่แล้ว

สำหรับแผนการพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ 5 ปี (2553-2557) จะเน้นพัฒนาศักยภาพบุคลากร การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและการดึงทุนต่างชาติที่ป้อนชิ้นส่วนให้ค่ายรถยนต์มาตั้งฐานการผลิตที่ไทย เพราะในปัจจุบันเกือบทุกค่ายรถมาอยู่ในไทยหมดแล้ว จึงตั้งเป้าจะลดการนำเข้าชิ้นส่วนให้ได้ 80% หรือ 4 แสนล้านบาท ภายใน 5 ปี 

ทั้งนี้ สถาบันฯ จะไม่เน้นการดึงนักลงทุนให้มาตั้งค่ายรถยนต์เพิ่ม แต่จะชักจูงผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ป้อนให้แก่รถยนต์แต่ละยี่ห้อมาตั้งฐานในเมืองไทย เพราะเชื่อว่าในนาคตไทยจะผลิตรถยนต์ได้อีกมากโดยเฉพาะรถยนต์ประหยัดพลังงานอย่างอีโคคาร์ ที่ได้รับการยอมรับจากลูกค้าที่ดีมาก

นายวัลลภ กล่าวว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์คาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีมาก หากสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองยุติลง ค่ายรถยนต์อาจจะปรับเป้าการผลิตในปีนี้เพิ่มจาก 1.4 ล้านคัน เป็น 1.6 ล้านคัน แบ่งเป็นส่งออกเพิ่มจาก 8 แสนคันเป็น  9.5  แสนคัน และ จำหน่ายในประเทศเพิ่มจาก 6  แสนคัน เป็น 6.5 แสนคัน  ซึ่งตั้งแต่เดือน ส.ค. เป็นต้นไปผู้ผลิตรถยนต์สามารถเพิ่มกำลังการผลิต 1.6-1.7 แสนคัน

“กำลังการผลิตรถยนต์อยู่ที่ 2 ล้านคัน ซึ่งในไตรมาสแรกยอดการผลิตเพิ่มสูงอย่างมากแต่เดือน เม.ย. และ พ.ค. ยอมรับว่ายอดการผลิตอาจลดลงบ้างส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง ที่ทำให้ยอดการผลิตสะดุดลงบ้างอาจเหลือ 1.2-1.3 แสนคันต่อเดือนจากเดิมในเดือน มี.ค. อยู่ที่ 1.5 แสนคันต่อเดือน แต่หลังจากประเทศไทยสงบคงต้องใช้เวลาในการปรับตัวอีก 1-2 เดือน” นายวัลลภ กล่าว

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การเปิดเขตการค้าเสรี (อาฟต้า) จะเป็นบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยอย่างมาก โดยในปัจจุบันมีผลบังคับใช้ใน 6 ประเทศเมื่อวันที่  1 ม.ค. ที่ผ่านมา ประกอบด้วย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบรูไน ซึ่งทั้งหมดจะรวมเป็นตลาดเดียวที่ทำให้ผู้บริโภคเพิ่มขึ้น และสามารถทำให้ไทยสามารถผลิตชิ้นส่วนให้กับโรงงานผลิตและส่งออกได้สะดวกยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างมาก ทำให้เป็นผู้ผลิตรถรายใหญ่เป็นอันดับที่ 14 ของโลก โดยเฉพาะรถกระบะ ที่เป็นโปรดักส์แชมเปี้ยนของการผลิตยานยนต์ไทย และเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับ 2 รองจากอุตสาหกรรมชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

“แม้ว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนจำนวนมากยังมองว่าการเปิดเสรีการค้าเสรีอาเซียนอาจเป็นอุปสรรค แต่ภาครัฐเชื่อว่าจะเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทย เห็นได้จากความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยของกลุ่มผู้ประกอบการยานยนต์ ที่ต้องการใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาค รวมถึงการเปิดตัวรถรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาด” นายอาทิตย์ กล่าว