posttoday

ปฏิรูปสื่อเพื่อปรองดองเปิดกว้างห้ามควบคุม

01 มิถุนายน 2553

หนึ่งในแผนปรองดอง 5 ข้อของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี คือการปฏิรูปสื่อ เป็นการปฏิรูปสื่อที่มีปริบทแตกต่างการปฏิรูปสื่อเมื่อปี 2540

หนึ่งในแผนปรองดอง 5 ข้อของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี คือการปฏิรูปสื่อ เป็นการปฏิรูปสื่อที่มีปริบทแตกต่างการปฏิรูปสื่อเมื่อปี 2540

โดย...ทีมข่าวธุรกิจตลาด

หนึ่งในแผนปรองดอง 5 ข้อของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี คือการปฏิรูปสื่อ เป็นการปฏิรูปสื่อที่มีปริบทแตกต่างการปฏิรูปสื่อเมื่อปี 2540 หลังเหตุการณ์ พ.ค. 2535 เป็นการปฏิรูปสื่อ เพราะมีการใช้สื่อเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกว่า แผนปฏิรูปสื่อจะพูดถึงสื่อสร้างสรรค์ที่จะสร้างความสามัคคีให้เกิดความเข้าใจกับคนทั้งประเทศ จากการหารือเบื้องต้น ต้องปรับบทบาทสื่อภาครัฐที่จะนำไปสู่สถานีข่าวสารเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย การเปิดพื้นที่ให้สมัชชาประชาชน เปิดพื้นที่ให้ฝ่ายที่อาจจะมีความเห็นไม่ตรงกัน ภาควิชาการได้แสดงความเห็น และรัฐบาลได้มีรายการที่เชื่อมโยงกับประชาชนมากขึ้น

ปฏิรูปสื่อเพื่อปรองดองเปิดกว้างห้ามควบคุม

นอกจากนี้ มีแนวคิดจะจัดตั้งองค์กรภาคสื่อ เพื่อดูแลการใช้พื้นที่ของสื่อ และถ้ามีสื่อที่ใช้สื่อไม่สร้างสรรค์ หรือปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังกัน จะต้องมีมาตรการทางกฎหมายไปดำเนินการ อาจให้องค์กรวิชาชีพเป็นผู้เสนอ รวมทั้งเร่งปรับปรุงแก้ไข กฎหมายเกี่ยวกับสื่อ รวมถึงการเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ....

สำหรับสื่อใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น วิทยุชุมชน โทรทัศน์ดาวเทียม ได้ประสานให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เข้าไปดูในเงื่อนไขในการให้ใบอนุญาตชั่วคราว หากไม่ดำเนินการตามเงื่อนไขให้ขึ้นบัญชีดำไว้ และหากพบว่าทำผิดกฎหมาย ต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

นายพนา ทองมีอาคม กรรมการ กทช. กล่าวว่า รัฐบาลได้ประสานนโยบายเกี่ยวกับการปฏิรูปสื่อตามแผนปรองดอง ซึ่งในส่วนของ กทช.ได้ดำเนินการอยู่แล้ว โดยขณะนี้ได้ประกาศหลักเกณฑ์ประกอบกิจการชั่วคราวทั้งวิทยุชุมชนและเคเบิลทีวี ทางเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น จากนั้นจะนำเสนอ กทช.ชุดใหญ่ เพื่อเห็นชอบและสามารถบังคับใช้กฎหมายได้ทันที

“ปัญหาสำคัญตอนนี้ คือ กทช.ไม่มีบุคลากรเพียงพอที่จะรับผิดชอบดูแลทั้งสื่อวิทยุชุมชน เคเบิลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม ซึ่งในขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมายอาจต้องใช้เวลา แต่ กทช.จะเร่งดำเนินการ” นายพนา กล่าว

ด้านนายกฤษณพร เสริมพานิช อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า ช่อง 11 จะปรับผังรายการเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการปฏิรูปสื่อตามแผนปรองดองของรัฐบาล คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงกลางเดือน มิ.ย.นี้ โดยรายการต่างๆ ทั้งที่ช่อง 11 ดำเนินการเอง หรือผู้ร่วมผลิต จะต้องเปิดกว้างสำหรับคนทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายในสังคมเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทย รวมถึงความเห็นของประชาชนที่ต้องการปฏิรูปสื่อที่มีอยู่ในขณะนี้ด้วย ทั้งช่อง 3, 5, 7, 9 รวมถึงทีวีไทย

“การปฏิรูปสื่อต้องเปิดกว้าง ให้เขาได้เปิดรับข้อมูลข่าวสารจากแหล่งที่หลากหลาย ขณะเดียวกันต้องพัฒนาคนควบคู่ไปด้วย เพื่อให้รู้จักแยกแยะสื่อที่ดีและไม่ดี สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ แต่ไปห้ามคงไม่ได้” นายกฤษณพร กล่าว

ขณะที่นางพิรงรอง รามสูตร รณะนันท์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ยังไม่เข้าใจรัฐบาลจะปฏิรูปสื่อในแง่ไหน หากจะปฏิรูปสื่อด้วยการควบคุมคงไม่สามารถทำได้ เพราะโครงสร้างของสื่อทุกวันนี้ มีหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะสื่อที่เกิดขึ้นตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นการปฏิรูปสื่อที่ควรจะทำ คือการปฏิรูปสำนึกและความรับผิดชอบของคนทำสื่อ ขณะที่รัฐบาลควรสนับสนุนให้เกิดโครงสร้างในการกำกับดูแลโดยองค์กรวิชาชีพน่าจะเป็นคำตอบสำหรับการปฏิรูปสื่อในยุคนี้