posttoday

บิ๊กตู่แจงเร่งแก้ราคายางตกต่ำ

22 สิงหาคม 2557

พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมรับมือผลผลิตใหม่วอนอย่าเพิ่งมาประท้วงกำลังแก้ราคายางตกต่ำเผยมีเอกชนสนประมูลข้าว49ราย

พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมรับมือผลผลิตใหม่วอนอย่าเพิ่งมาประท้วงกำลังแก้ราคายางตกต่ำเผยมีเอกชนสนประมูลข้าว49ราย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่วในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ คืนวันที่22ส.ค.ว่า ปัญหาของเรื่องข้าวผมเรียนแล้ว นอกจากกายภาพเรื่องจำนวน เรื่อง DNA แล้วต้องไปดูเรื่องอื่น ๆ เพราะกระบวนการมีมากมาย การรับซื้อ รับจำนำ ราคา การทำ สัญญาซื้อขายกับต่างประเทศหรือในประเทศ และเรื่องอื่น ๆ อยู่มาก เรื่องการเก็บดูแลรักษาก็มีการตรวจสอบในทุกระบบทุกขั้นตอน ซึ่งวันนี้ยังไม่ออกมาทั้งหมด ออกมาเฉพาะเรื่องของการตรวจสอบนับจำนวนข้าวเท่านั้นเอง แต่ที่เหลือทั้งหมดยังคงต้องดำเนินการต่อไป และเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย ตามกระบวนการตรวจสอบขององค์กรอิสระก็ว่าไป

วันนี้เราจะดำเนินการเฉพาะข้าวที่ไม่มีปัญหา คือทั้งที่มีจำนวนครบนี้ คือทางกายภาพ และตรวจทางชีวภาพ คือการตรวจทาง DNA ถ้าตรงกัน ชนิดเดียวกัน อยู่ในกลุ่มนี้เดียวกัน เราจะได้ขายข้าวได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นการระบายข้าว อาจจะไม่มากนัก เพราะว่าเราจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างชาติคู่ค้าเขาด้วย เราไม่ได้ทำเพื่อปกป้องให้ฝ่ายใด หรือใครจะไปอ้างผลทางคดี ไม่ได้ทั้งนั้น เพราะเป็นการตรวจสอบทางกายภาพ เพื่อการระบายข้าว

สิ่งที่เราต้องเตรียมการมากในขณะนี้คือ มาตรการรองรับผลิตผลใหม่ เราคงไม่ย้อนกลับไปพูดถึงว่าเราจะช่วยเหลือเกษตรกรอย่างไร ถ้าเราดำเนินการไปแล้ว และแก้ไขตอนนี้คงไม่ได้ ลองทำดูก่อนว่าจะทำได้หรือไม่ ถ้าทำได้เกิดความยั่งยืน มีการขายในราคาที่เป็นธรรม ไม่ผูกขาดกัน รัฐไม่ต้องเข้าไปดูแลมากนัก เป็นไปตามกลไกของตลาด ก็น่าจะดีกว่าถ้าทำได้ ถ้าทำไม่ได้ก็ไปว่ากันอีกครั้งหนึ่ง ขอร้องอย่าเพิ่งมาประท้วงร้องเรียนในขณะนี้เลย มีหลายอย่างที่มีผลผูกพันกันมากนัก เช่น เราต้องช่วยกันดูแลปรับปรุงคุณภาพให้ได้คุณภาพที่ดีขึ้น มีพันธุ์ข้าวที่ดีปลูก และการสี การผลิตออกมาจะต้องไม่ปลอมปนกัน ไม่นำข้าวนอกประเทศมาปนในประเทศ จะได้เกิดการแข่งขันเสรีได้ ทุกประเทศในโลกเขากำลังทำอยู่ เรื่องการตรวจสอบ เวลาเราไปขายเขา ตอนไปให้เขาดู ถูกต้องทุกอย่าง แต่พอตอนส่งให้เขาไป ก็ขอร้องว่าอย่าไปปลอมปน ทำให้ประเทศเสียหาย และอีกหน่อยก็ไม่มีใครมาค้าขายกับเรา ก็เดือดร้อนไปถึงชาวนา เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ มีปัญหาไปหมด ราคาจะได้ไม่ตก ผลผลิตต่าง ๆ ก็ไม่ตก ในอนาคตกันใกล้ต้องเตรียมการเรื่องข้าว

ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์จัดประมูลข้าวในสต็อกของรัฐ ได้รับความสนใจจากผู้ซื้อเป็นอย่างมาก มีผู้ร่วมยื่นซองเสนอราคารวม 49 ราย ชนิดข้าวสารที่ประมูลในครั้งนี้ ทั้งข้าวหอมมะลิ 100% ข้าวขาว 15% ข้าวเหนียวขาว 10% ข้าวท่อนหอมมะลิ ปลายข้าวหอมมะลิ ปลายข้าวปทุมธานี และปลายข้าวขาวเอวันเลิศ โดยการเปิดประมูลข้าวในสต็อกของรัฐครั้งนี้ได้จัดทำหลักเกณฑ์การประมูลให้มีความโปร่งใสในทุกขั้นตอน โดยผลการประมูลของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว หรือ นบข. ได้มีมติอนุมัติให้ขายข้าวได้เป็นปริมาณทั้งสิ้นรวม 73,200 ตัน มูลค่าประมาณ 737 ล้านบาท ข้าวทั้งหมดต้องมี DNA ตรงกัน อยู่ในกลุ่มแต่ละกลุ่มให้ชัดเจน และเป็นข้าวที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน เป็นข้าวในประเทศ มีเอกชนยื่นซองรวม 11 ราย

การแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ตอนนี้มีตั้งแถวกันแล้วรอจะมาร้องเรียน ถ้าราคาตกต่ำกว่า 50 ก็พยายามจะไม่ให้ต่ำกว่า 50 อยู่ในขณะนี้ พยายามอย่างยิ่ง เราไม่อยากให้ท่านต้องเสียเวลาเดินทางมา และไม่ได้อะไรกลับไป เพราะเรายังไม่มีเงินให้ท่าน ของเก่าก็ยังอยู่ ของใหม่จะทำอย่างไร เราต้องพยายามจะทำอย่างไรให้เกิดการแข่งขั้น ทำอย่างไรจะทำให้เกิดประโยชน์จากยางให้มากขึ้น อันนี้กำลังแบ่งการแก้ปัญหาออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการเตรียมระบายยางในสต็อกจากโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางพารา ซึ่งรับซื้อมาจากท่านสมัยที่ผ่านมา รับซื้อมาเป็นจำนวนมาก ราคาสูง ขายไม่ออก ขายไม่ได้ เพราะราคาบิดเบือน ไปขายใครได้ ถ้าซื้อมาราคาสูง ๆ ข้างนอกราคาตลาดเขาไม่ใช่เท่านั้น ต้องมาเก็บสะสมไว้ ก็ขาดทุน ขายไม่ได้

ขณะเดียวกัน รุ่นใหม่ก็เรียกร้องจะเอาเท่าเก่าอีก แล้วจะเป็นไปได้อย่างไร ก็นึกไม่ออกเหมือนกัน ต้องแก้กันทั้ง 2 อย่าง อย่างแรกคือ เราต้องแก้ไขจะทำอย่างไรยางเหล่านี้ หรือยางใหม่จะใช้ในประเทศเป็นหลักได้ และเป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ยางดิบให้ได้ โดยไปเชื่อมต่อกับ BOI เชื่อมต่อกับโรงงานต่าง ๆ ที่มีการผลิตยางไปทำถนน ไปทำถุงมือเป็น ที่ใช้ปริมาณยางให้มาก ๆ เราจะได้นำยางในสต๊อกมาใช้ในประเทศให้ได้ บริษัทต่าง ๆ ที่มาทำยางก็ต้องอุดหนุนยางของเรา อันนี้ต้องแก้ระเบียบ แก้กฎต่าง ๆ มากมาย อันนี้เป็นสิ่งที่เรากำหนดแนวทางในการพัฒนายางพาราทั้งระบบ ทั้งมาตรการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ได้แก่ แนวทางจัดการสต็อกยาง มาตรการบริหารจัดการในช่วงฤดูกาลผลิต ได้แก่ แนวทางยกระดับราคาเพิ่มสภาพคล่องด้านการตลาด แนวทางเพิ่มมูลค่าและคุณภาพผลผลิต มาตรการพัฒนายางพาราเพื่อความยั่งยืน ได้แก่ การปรับโครงสร้างด้านการตลาด แนวทางในการหาตลาดส่งออกใหม่ วันนี้หลายประเทศปลูกเอง หลายประเทศไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ราคายางหรือความต้องการยางไทยลดลง ต้องเข้าใจตรงนี้ เราต้องมาช่วยตัวเองบ้าง

นอกจากการใช้ยางในประเทศแล้ว แนวทางการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาง ควบคุมพื้นที่การปลูกยางให้ลดลง ต่อไปอาจจะกรีดยางไม่ได้ อาจจะต้องไปทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ เป็นไม้ผลิตภัณฑ์ยางพารา ต้องช่วยกัน ถ้าเราจะขายยาง ๆ อย่างเดียว ยางดิบอย่างเดียวก็เป็นอยู่แบบนี้ยังไงก็ตก ฉะนั้นต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกร การลดพื้นที่การเพราะปลูก ไปปลูกพืชหมุนเวียน หรือปลูกอย่างอื่น ๆ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทำการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการจัดทำร่างยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า เป็น Road map คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย ได้เสนอคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืช ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 116/2557 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2557 เพื่อให้การขับเคลื่อนสินค้าเกษตร อาหารและพลังงานทดแทนจากสินค้าเกษตรของพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้าดังกล่าวเกิดความสมดุล เข้มแข็งและมั่นคง มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ

ขณะนี้ทราบว่าทางบริษัท China Oversea Investment Service Limited สนใจนำเข้ามันสำปะหลังจากไทยราว 20,000-30,000 ตันต่อเดือน ภายในระยะเวลา 1 ปี ขณะนี้ก็ให้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลทางบริษัทอยู่ว่าเป็นอย่างไรจะทำสัญญากันอย่างไรเป็นไปได้หรือไม่ ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนการติดต่อกันอยู่

ผลิตผลการเกษตรอื่น ๆ เช่นกัน น่าเป็นห่วง บอกแล้วว่าปลูกมากราคาก็ตก ปลูกมากก็ไม่รู้จะไปขายใคร ปลูกมากรับซื้อมาจากประชาชน แล้วเราก็ขายไม่ได้น่าเป็นห่วง ทั้งพืชไร่ พืชสวน ผลไม้ เรามีการผลิตจำนวนมาก วันนี้ราคาก็ตก แข่งขันกัน บางอย่างคุณภาพก็ไม่ได้ ราคาก็ตกอีก ฉะนั้นต้องแก้ทั้งระบบ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงเกษตรฯ ต้องเข้าไปดูแลในพื้นที่เพาะปลูกอย่างใกล้ชิด ให้คำแนะนำ สนับสนุนการปรับเปลี่ยน การปลูกพืชให้เหมาะสม กติกา สัญญา ระเบียบข้อบังคับ ภาษี ต้องแก้ทั้งระบบ

ฉะนั้น การทำงานเกี่ยวกับผลิตผลการค้าขาย ต้องเกี่ยวพันทั้ง 3 กระทรวง ทั้งกระทรวงเกษตรฯ ดูแลเรื่องการผลิต กระทรวงพาณิชย์ค้าขาย กระทรวงการคลังเก็บภาษี 3-4 กระทรวงต้องเกี่ยวข้องกันในการวางแผนตั้งแต่ปลูก ตั้งแต่ผลิต แปรรูป ขาย กระทรวงการคลังก็ต้องไปดูกฎ กติกาว่าภาษีจะทำอย่างไร จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนรัฐเท่าไร บางอย่างต้องสร้างแรงจูงใจ อันนี้คือสิ่งสำคัญที่ต้องคุยกันมากกว่าการที่จะดูว่าพอราคาตกต่ำแล้วต้อง Subsidize ผมว่าแล้วเมื่อไหร่จะพอ เงินก็ไปทำอย่างอื่นไม่ได้อีก ทุกคนต้องการหมด ต้องรถไฟฟ้า ต้องการรถทางคู่ ต่าง ๆ แหล่งน้ำ แต่เงินทั้งหมดต้องมา Subsidize ของเหล่านี้เป็นตลอดระยะเวลาที่ยาวนานที่ผ่านมา ที่เราต้องการอย่างอื่นก็ไม่เกิดความทันสมัย ก็ไม่ได้ต้องลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ลง เพื่อที่จะเพิ่มทางนี้จะได้ทันเวลาที่เราจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน AEC ด้วย

การตรวจสอบ Demand Supply การจัดทำฐานข้อมูลต้องทันสมัยทั้งความต้องการ การผลิต ต้องสมดุลกัน เพียงพอ สมดุล มีตลาด มีคุณภาพ ไม่ใช่เน้นปริมาณแต่ราคาต่ำมาก ไม่ได้ต้องจัดสรรกันให้เหมาะสมกันทั้งระบบ ผลประโยชน์ที่เราให้ได้ตอนนี้ ถ้าให้ได้ตอนนี้ก็เกิดโทษในวันหน้า ก็เกิดการต้องใช้เงินกู้ ต้องชำระหนี้ ที่วันนั้นผมไปแถลงงบประมาณ บางคนบอกทำไมต้องไปใช้หนี้อีก ก็ต้องใช้เขายืมเงินก้อนนั้นเขามามาทำตรงนี้ มา Subsidize ไป ก็ถึงเวลาที่จะเริ่มต้นใหม่ก็ต้องนำอันนี้คืนเขา และก็กู้เข้ามาใหม่อีก เป็นอยู่แบบนี้แล้วเราจะทำอย่างอื่นได้อย่างไร อันนี้ต้องแก้ให้ได้โดยเร็วส่วนราชการ ประชาชนต้องเข้าใจ ซึ่งต่อไปนี้ผมได้กำซับไปแล้ว 3-4 กระทรวงหลัก ต้องรับผิดชอบให้ได้ จะมาทำคนละชิ้น คนละส่วนไม่ได้ ปลูกเท่าไรก็ปลูกไป พอจะขายกระทรวงพาณิชย์ก็รับไป กระทรวงการคลังก็แล้วแต่จะขายอย่างไรก็ได้ ไม่ได้ต้องมาทำด้วยกัน เพราะเราจัดทำงบประมาณเป็นลักษณะการบูรณา ท่านต้องทำงานให้ต่อเนื่องกัน ฉะนั้นการกำกับดูแลของรัฐบาล ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะต้องตามติดเรื่องพวกนี้

พื้นที่เพาะปลูกใด ๆ ที่ไม่ถูกต้องก็ไม่ต้องซื้อ กระทรวงพาณิชย์ก็อย่าไปซื้อ ทุกคนต้องมีขื้นทะเบียนให้เรียบร้อย ต้องไม่บุกรุกที่ป่า ไม่ใช่ใครมาขายอะไรก็ซื้อหมด เราต้องควบคุม ถ้าไม่มีหลักฐานชัดเจนเป็นที่ของตัวเองมีโฉนด มีใบอนุญาตต่าง ๆ ก็ซื้อไม่ได้ อีกหน่อยคนเหล่านี้ก็ไม่กล้าที่จะไปบุกรุกป่ามาปลูกพืชเหล่านี้ เพราะไม่รู้จะไปขายใคร ผิดกฎหมาย ตำรวจจับ ต้องเข้มงวด ให้สอดคล้องกัน การบังคับใช้กฎหมาย คนจนจะทำอย่างไร พ่อค้าคนกลางจะทำอย่างไร ข้าราชการจะช่วยกันอย่างไร ทั้งหมดเป็นระบบทั้งสิ้น ฉะนั้นที่มาเหล่านี้ต้องถูกต้อง หลายกระทรวงต้องประชุมหารือกันให้เป็นระบบโดยเร็ว