posttoday

หวั่นรง.น้ำตาลชุมชนแย่งอ้อยจี้คสช.ทบทวบ

25 กรกฎาคม 2557

โรงงานน้ำตาลหวั่นนโยบายบิ๊กตู่ผุดโรงงานขนาดเล็กใกล้ชุมชุนแย่งอ้อยจี้เร่งพิจารณาระบบราคาก่อนเปิดเออีซี

โรงงานน้ำตาลหวั่นนโยบายบิ๊กตู่ผุดโรงงานขนาดเล็กใกล้ชุมชุนแย่งอ้อยจี้เร่งพิจารณาระบบราคาก่อนเปิดเออีซี             
               
นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่า  หลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ให้นโยบายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยมีส่วนที่ให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปพิจารณาเรื่องการผลักดันให้เกิดโรงงานน้ำตาลขนาดเล็กใกล้กับชุมชน หรือพื้นที่ปลูกอ้อยเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง

ทั้งนี้ หากประเมินแล้วก็มีความเป็นไปได้ที่จะนโยบายนี้จะเกิดขึ้นได้  กระทรวงฯ โดย สอน. จะต้องมีการหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่าจะต้องมีการปรับปรุงกฎเกณฑ์ในส่วนใดและต้องมีมาตรการส่งเสริมอย่างไร  แต่ทั้งนี้คาดว่าโรงงานน้ำตาลอาจจะไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ เพราะอาจะเกรงจะเกิดปัญหาแย่งอ้อยที่จะป้อนโรงงาน 
            
แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาล เปิดเผยว่า  กรณีที่ คสช. อยากให้มีโรงงานน้ำตาลขนาดเล็กกระจายอยู่ใกล้พื้นที่ปลูกอ้อยนั้นต้องดูว่าขนาดเล็กในที่นี้หมายถึงมีกำลังการหีบอ้อยเท่าไร  หากเล็กเกินไปก็จะมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพ อาจะเป็นภาระตามมาภายหลัง ขณะเดียวกันการจะขึ้นโรงงานใหม่ปัจจุบันต้องคำนึงถึงผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น โรงไฟฟ้า รวมถึงโรงงานผลิตเอทานอล  เพื่อเมื่อราคาน้ำตาลปรับลดลงโรงงานยังมีรายได้จากผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง  และยังอาจสร้างปัญหาการแย่งอ้อยผลผลิตที่จะป้อนโรงงานด้วย 
                
อย่างไรก็ตาม การจะเพิ่มเติมนโยบายต้องคำนึงถึงผลผลิตอ้อยด้วย เนื่องจากปัจจุบันอ้อยที่ผลิตได้มีอยู่ประมาณ 103-104 ล้านตันอ้อย ป้อนโรงงานน้ำตาลประมาณ 50 แห่งทั่วประเทศ  แต่หากจะให้มีโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นก็ต้องมีแนวทางในการเพิ่มพื้นที่ผลิตและปริมาณอ้อยที่จะเข้าโรงงาน  
                
ในส่วนของนโยบายจัดพื้นที่ปลูกอ้อย หรือโซนนิ่ง ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วที่จะเปลี่ยนนาข้าวมาปลูกอ้อยและจะทำให้มีพื้นที่ปลูกอ้อยเป็น 10 ล้านไร่ นั้น จะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของพื้นที่ด้วย ไม่เพียงแต่เพิ่มปริมาณแต่ต้องคำนึงถึงต้นทุนโลจิสติกส์ คือพื้นที่ส่งเสริมต้องไม่ห่างไกลจากโรงงานจนเกินไป  
               
แหล่งข่าว กล่าวว่า  ประเด็นที่อยากให้ คสช. เร่งพิจารณาคือโครงสร้างราคาน้ำตาล ที่ต้องมีการแก้ไขก่อนจะเปิดประชาคมอาเซียนที่การค้าระหว่างกันจะเสรีมากขึ้น  แต่ในส่วนราคาน้ำตาลในส่วนโควตา ก. หรือโควตาเพื่อบริโภคในประเทศยังถูกควบคุมให้ราคาอยู่ในระดับต่ำ  เพื่อนบ้านบางประเทศราคาสูงกว่าไทยเกือบเท่าตัว เมื่อเปิดอาเซียนแล้วจะทำให้เกิดการลักลอบนำน้ำตาลในประเทศออกไปขายเพื่อนบ้านมากขึ้น 
                
“เรื่องปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบจะต้องคุยกันทั้ง 3 ฝ่ายทั้งโรงงาน ชาวไร่อ้อยและภาครัฐ ต้องเร่งให้ได้ข้อสรุปเรื่องนี้ก่อนเปิดเออีซี ไม่เช่นนั้นแม้เราจะเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลกแค่ไหน ก็อาจจะมีปัญหาได้” แหล่งข่าว กล่าว 
                  
แหล่งข่าว กล่าวว่า  ราคาน้ำตาลในตลาดโลกขณะนี้อยู่ที่ 17 เซนต์ต่อออนซ์มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอีกในระยะ 1 ปีข้างหน้า  โดยราคาส่งมอบในเดือนต.ค. 2557 อยู่ที่  17.05 เซนต์ต่อออนซ์  เดือนมี.ค. 2558 อยู่ที่ 18.60 เซนต์ต่อออนซ์  ส่งมอบเดือน พ.ค. และ ต.ค. 2558 อยู่ที่  18.8 และ 19.0 เซนต์ต่อออนซ์ตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากตลาดมองว่าประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ๆ อาจมีปัญหาในการผลิตโดยเฉพาะปัญหาจากภูมิอากาศที่จะกระทบต่อผลผลิตอ้อยทั้งในบราซิล อินเดีย และไทย.