posttoday

ชงเคาะสัมปทานปิโตรเลียม

21 กรกฎาคม 2557

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ย้ำ 3 เรื่องเร่งด่วนรอ คสช.เคาะ เน้นสัมปทานปิโตรเลียม

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ย้ำ 3 เรื่องเร่งด่วนรอ คสช.เคาะ เน้นสัมปทานปิโตรเลียม

นายคุรุจิต นาครทรรพ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้มี 3 เรื่องเร่งด่วนที่ต้องให้ความสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคต ประกอบด้วย 1.การเปิดสัมปทานรอบใหม่ครั้งที่ 21 ซึ่งล่าช้ามา 2 ปี เนื่องจากขณะนี้ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเริ่มทยอยหมดลง

ทั้งนี้ ต้องรอนโยบายที่ชัดเจนจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าจะให้ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร ขณะที่กรมเชื้อเพลิงฯ กำลังทบทวนพื้นที่แปลงสัมปทานที่เหลืออยู่จะนำมาเปิดประมูลใหม่ในพื้นที่ใดบ้าง ซึ่งก่อนหน้านี้มี 27-29 แปลง ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และอีกส่วนหนึ่งอาจจะมีอ่าวไทย ซึ่งที่ผ่านมามีการคืนสัมปทานกลับมาบ้าง ดังนั้นคงต้องมาพิจารณากันอีกครั้งว่าจะเลือกสัมปทานไหนมาเปิดสัมปทานรอบใหม่

สำหรับเรื่องที่ 2 คือ การต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุในปี 2565 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนก๊าซที่ผลิตได้ในประเทศ 60% ได้แก่ สัญญาของบริษัท เชฟรอนสำรวจและผลิต กำลังการผลิต 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุต แหล่งบงกชที่บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ ได้แก่ แหล่งบงกช 630 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน แหล่งบงกชใต้ 320 ลูกบาศก์ฟุต/วัน โดยทั้ง 2 สัญญาจะหมดอายุในเดือน เม.ย. 2565 ซึ่งการต่ออายุสัมปทานจะคำนึงถึงประโยชน์ประเทศเป็นหลัก

เรื่องที่ 3 คือ การพัฒนาพื้นที่แหล่งปิโตรเลียมไทย-กัมพูชา ซึ่งหาก คสช.มีนโยบายในเรื่องนี้ออกมาก็สามารถสานต่อในการเจรจาได้ ซึ่งจะเป็นเรื่องของรัฐต่อรัฐ

“นโยบายเหล่านี้จะต้องเดินหน้าต่อ เพื่อหาแหล่งพลังงานรองรับความต้องการใช้ในอนาคต ที่มีการใช้ขยายตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะก๊าซ เพราะหากไม่มีแหล่งสำรองใหม่ๆ ไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เข้ามาแทน ซึ่งมีราคาแพงกระทบต่อต้นทุนหลายด้าน ทั้งค่าไฟ ค่าขนส่ง” นายคุรุจิต กล่าว

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีการประกอบกิจการปิโตรเลียม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ในเรื่องการ|ต่อสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุ ได้เสนอกระทรวงพลังงานไป 3 แนวทางหลัก คือ 1.ระบบสัมปทานที่จ่ายค่าภาคหลวง ภาษีผลตอบแทนพิเศษ ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน 2.ระบบแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract) และ 3.ระบบจ้างผลิต (Service Contract) ซึ่งแต่ละแนวทางมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับนโยบายว่าจะเลือกแนวทางใดที่เหมาะสม