posttoday

กรมเชื้อเพลิงฯตั้งกก.4ฝ่ายลงพื้นที่ตรวจสอบการผลิตน้ำมัน

18 กรกฎาคม 2557

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเดินสายตรวจสอบข้อเท็จจริงปัญหาการลักลอบขนถ่ายน้ำมันในแหล่งปิโตรเลียมบนบก ตั้งกรรมการ4ฝ่าย ลงพื้นที่ 4 สัมปทานหลัก คาดใช้เวลา2เดือนเร่งทำความเข้าใจ

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเดินสายตรวจสอบข้อเท็จจริงปัญหาการลักลอบขนถ่ายน้ำมันในแหล่งปิโตรเลียมบนบก ตั้งกรรมการ4ฝ่าย ลงพื้นที่ 4 สัมปทานหลัก คาดใช้เวลา2เดือนเร่งทำความเข้าใจ

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี   ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีการประกอบกิจการปิโตรเลียม  กรมเชื้อเพลิงเชื้อเพลิงธรรมชาติ   เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตวจสอบข้อเท็จจริงการผลิตและขนส่งน้ำมันดิบในแปลง L53/48  อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ของบริษัท แพนโอเรียนท์   สยาม ว่า ขณะนี้ได้กำหนดแผนการตรวจสอบปัญหาการลักลอบขนส่งน้ำมันในแหล่งปิโตรเลียมบนบก ภายหลังมีข่าวผ่านสื่อออนไลน์อ้างว่ามีบริษัทผู้รับสัมปทานลักลอบขนถ่ายน้ำมันที่ผิดกฏหมายรวมทั้งการบุกรุกพื้นที่ป่า เพื่อให้เกิดความเข้าใจและรับทราบข้อเท็จจริง ซึ่งจะใช้เวลาในการลงพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายใน2 เดือน

ทั้งนี้ได้ประสานให้มีกรรมการ4ฝ่ายได้แก่บริษัทผู้รับสัมปทาน  เจ้าหน้าที่กรมเชื้อเพลิงฯ นักข่าวท้องถิ่นและองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ซึ่งจะร่วมเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงกับข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจว่ไม่มีการลักลอบการผลิต โดยแหล่งปิโตรเลียมบนบกที่จะลงพื้นที่ไปสำรวจ แบ่งเป็น 4 กลุ่มได้แก่1. พื้นที่แหล่งสิริกิติ์ จ.กำแพงเพชรและพื้นที่ใกล้เคียง 2. แปลง L53/48  อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 3.แหล่งปิโตรเลียมจ.เพชรบูรณ์และ4.แหล่งสินภูฮ่อม  จ.อุดรานีและจ.ขอนแก่น

สำหรับการลงพื้นที่ล่าสุดได้เข้าไปสำรวจแปลง L53/48 จ.นครปฐม ซึ่งปัจจุบันมีบริษัท แพน โอเรียนท์ สยาม  เป็นผู้รับสัมปทาน  เป็นแหล่งปิโตรเลียมที่ได้รับสัมปทานตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2550 ภายใต้สัมปทานเลขที่ 1/2550/77  โดยได้รับอนุมัติพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมจำนวน 3 พื้นที่  รวม 20.26 ตารางกิโลเมตร (ตร.ม.)โดยทั้งหมดอยู่ในพื้นที่อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม มีอัตราการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ย 960 บาร์เรลต่อวัน   ก๊าซธรรมชาติที่แยกได้จากกระบวนการผลิต 0.02 ล้านลูกบาศก์ฟุต(ลบ.ฟุต)ต่อวัน และมีน้ำที่แยกได้จากกระบวนการผลิต 2,930 บาร์เรลต่อวัน (ข้อมูลเดือนมิถุนายน 2557)

อย่างไรก็ตามจากปริมาณการผลิตดังกล่าวการขนส่งน้ำมันดิบจากแหล่งพื้นที่ผลิต L53/48 ไปยังจุดซื้อขายที่โรงกลั่นบางจาก ใช้รถบรรทุกเพียงวันละประมาณ 5 เที่ยว โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลตั๋วซื้อ ขายน้ำมัน หรือ Delivery Note ซึ่งจะระบุเลขทะเบียนรถที่ใช้ในการขนส่งน้ำมันดิบ และปริมาณที่ขนส่งได้อย่างชัดเจน  ณ สถานีต้นทาง และปลายทาง สำหรับน้ำที่แยกได้จากกระบวนการผลิตจะมีขนส่งเพื่อนำไปอัดกลับ ณ ฐานผลิต L53-C และ L53-G วันละ 15 เที่ยว

ดังนั้นอัตราการผลิตน้ำมันดิบไม่สามารถนับจากปริมาณรถที่เข้าออกจากสถานีผลิตได้  เพราะนอกจากกิจกรรมการขนส่งน้ำมันแล้ว  ยังมีรถขนส่งน้ำด้วย และเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในกรณีดังกล่าว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ขอความร่วมมือบริษัทฯในการเปลี่ยนสีรถขนส่งแต่ละประเภทให้มีความแตกต่างกัน โดยรถน้ำมันจะเป็นสีดำ และรถขนน้ำจะเป็นสีฟ้า และมีป้ายแสดงชนิดของรถแต่ละประเภทเพื่อความชัดเจนอีกด้วย

ปัจจุบัน แหล่งน้ำมันดิบ L53/48 มีการจัดเก็บค่าภาคหลวงตั้งแต่เดือนก.ย. 2553 ถึงเดือนมิ.ย. 2557 รวมทั้งสิ้นประมาณ 147 ล้านบาท โดยนำส่งคลัง 40%  ของค่าภาคหลวงที่จัดเก็บได้ คือ ประมาณ 59 ล้านบาท และได้มีการจัดสรรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 60%  ของค่าภาคหลวงที่จัดเก็บได้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ชี้แจงข้อเท็จจริงปริมาณการผลิตและขนส่งน้ำมันดิบ