posttoday

ขีดเส้นตายห้ามรถตู้ป้ายดำวิ่ง21ก.ค.นี้

12 กรกฎาคม 2557

ขนส่งขู่ฟ่อ 21 ก.ค. ห้ามรถตู้ป้ายดำวิ่งรับผู้โดยสารสาธารณะทั่วประเทศ

ขนส่งขู่ฟ่อ 21 ก.ค. ห้ามรถตู้ป้ายดำวิ่งรับผู้โดยสารสาธารณะทั่วประเทศ ฝ่าฝืนปรับ 2 หมื่น-1 แสนบาท

นายอัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะว่า ขณะนี้กรมการขนส่งทางบกได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) นำข้อมูลรถตู้ที่ขอจดทะเบียนเพิ่มเติมมาวิเคราะห์อยู่ โดยขั้นตอนทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 20 ก.ค.นี้ และตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. 2557 เป็นต้นไป จะเริ่มบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รถตู้ป้ายดำที่ไม่มีสติกเกอร์ผ่อนผันไปก่อนหน้านี้ จะต้องหยุดวิ่งรับผู้โดยสารทั่วประเทศอย่างเด็ดขาด

หากมีเจ้าของรถตู้รายใดฝ่าฝืน จะมีโทษตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่น1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ มีรายงานว่ากรมการขนส่งทางบกสำรวจในปัจจุบันพบว่า มีรถตู้ที่วิ่งอยู่และไม่ได้รับอนุญาตประมาณ 2,500 คัน แบ่งเป็นรถตู้ร่วม บขส. และรถตู้ร่วม ขสมก.ประเภทละ 1,250 คัน

ขณะที่ ผลการศึกษาของ บขส.พบว่า มีรถตู้เถื่อนที่วิ่งรับผู้โดยสาร ทั้งในส่วนที่เป็นเส้นทางของ บขส.และ ขสมก.รวมกันมากกว่า 6,000 คัน

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ในวันที่ 15-17 ก.ค. 2557 จะเชิญเจ้าของรถและคนขับรถมารับฟังผลการพิจารณาเป็นรายเส้นทาง โดยรถตู้โดยสารที่ได้รับการพิจารณา กรมการขนส่งทางบกจะชี้แจงกฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้รับทราบ และให้นำรถเข้ารับการตรวจสอบเพื่อรับสติกเกอร์ผ่อนผันให้ใช้งานระหว่างรอการจดทะเบียนรถโดยสารสาธารณะในวันที่ 19-20 ก.ค.นี้

“เราได้ร่วมมือกับ พล.ม.2 รอ. ดำเนินการจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะ เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยและให้บริการที่ดีกับประชาชน โดยระยะแรกจะทำการสำรวจรถตู้ป้ายดำที่วิ่งอยู่จริงในปัจจุบัน โดยรถที่วิ่งให้บริการใน กทม. จะเป็นหมวด 1 รถที่วิ่งจาก กทม.ไปจังหวัดอื่น จะเป็นหมวด 2 และรถที่วิ่งระหว่างจังหวัดถึงจังหวัด เป็นหมวด 3” นายอัฌษไธค์ กล่าว

นายอัฌษไธค์ กล่าวอีกว่า หลังจากการ สำรวจเพื่อควบคุมรถตู้ป้ายดำเบื้องต้นแล้ว ในระยะต่อไปกรมการขนส่งทางบก จะร่วมกับ พล.ม.2 รอ. บริษัท ขนส่ง (บขส.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และผู้ประกอบการขนส่งที่เกี่ยวข้อง พิจารณาจำนวนเส้นทาง ความต้องการ ความจำเป็นในการให้บริการ รวมทั้งค่าโดยสารที่เหมาะสม โดยพิจารณาในรายละเอียดของแต่ละเส้นทางทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการขนส่งที่เพียงพอ สะดวก ปลอดภัย และเป็นธรรม