posttoday

กสทช.ชงแก้กม.บังคับส่งเงินประมูลเข้ารัฐ

09 กรกฎาคม 2557

กสทช. เตรียมแก้กฎหมายเร่งด่วน ส่งเงินรายได้จากการประมูลทุกรูปแบบให้เป็นรายได้ของแผ่นดิน- เปลี่ยนรูปแบบจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่

กสทช. เตรียมแก้กฎหมายเร่งด่วน ส่งเงินรายได้จากการประมูลทุกรูปแบบให้เป็นรายได้ของแผ่นดิน- เปลี่ยนรูปแบบจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่

นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกฎหมาย เปิดเผยว่า กสทช. เตรียมพิจารณาเรื่องเร่งด่วน 2 เรื่อง คือ การแก้ไข พ.ร.บ. กสทช. 2 มาตรา คือ ให้เงินรายได้ที่ได้รับจากการเปิดประมูลคลื่นความถี่ทั้งฝั่งกิจการการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ รวมถึงฝั่งกิจการโทรคมนาคม เข้าสู่กระทรวงการคลังเพื่อให้ตกเป็นรายได้ของรัฐ จากเดิมที่กำหนดให้ส่งเงินประมูลเฉพาะโทรคมนาคมเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ ยังมีมาตรา 45 ที่กำหนดให้การคลื่นความถี่ต้องจัดสรรด้วยวิธีการประมูลเท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับความจำเป็นในการใช้งาน เห็นได้ชัดเจนจากกรณีการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สาย (ไวไฟ) บนเครื่องบิน ซึ่งต้องใช้กระบวนการนานก่อนจะอนุมัติได้ เพราะติดขัดว่าคลื่นความถี่ต้องประมูลเท่านั้น แต่ในกรณีนี้ไม่จำเป็นต้องประมูลก็ได้

อย่างไรก็ตาม การแก้กฎหมายที่ในประเด็นมาตรา 45 ไม่เกี่ยวข้องกับโรดแมปคลื่นความถี่ที่ กสทช. ได้เสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาเมื่อวันที่ 8 ก.ค. โดยยืนยันว่าจะต้องเปิดประมูลคลื่น 1800 และ 900 เมกะเฮิร์ตซ เนื่องจากคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ สิ้นสุดสัมปทานแลัวและต้องมีผู้ให้บริการต่อเนื่องเพื่อป้องกันลูกค้า 4 ล้านรายซิมดับ

นายสุธรรม อยู่ในธรรม คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะอดีตคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวว่า หากกสทช. ไม่เปิดประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ จะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาส เนื่องจากมีทรัพยากรอยู่แต่ไม่ได้ถูกใช้งาน ซึ่งมูลค่าความเสียหายในเชิงเศรษฐศาสตร์สูงมาก ดังนั้น จึงต้องการให้เกิดความชัดเจนโดยเร็วที่สุด

ขณะที่แผนคลื่นความถี่ของ ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ที่เสนอ คสช. คือ ขอแก้กฎหมายกสทช. ให้ทีโอทีไม่ต้องนำส่งรายได้สัมปทานให้ กสทช. ขอให้คลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ ไม่ต้องประมูลหลังหมดสัมปทานกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) และ ขอถือครองคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ตซ บางส่วนจากทั้งหมด 64 เมกะเฮิร์ตซ

สำหรับ กสทฯ ต้องการถือครองคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ จำนวน 25 เมกะเฮิร์ตซ ที่ปัจจุบันไม่ได้มีการใช้งาน เพื่อนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้ และพร้อมดูแลลูกค้า 4 ล้านราย หากคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ ที่หมดสัมปทานจากทรูมูฟ และ ดีพีซี ไม่สามารถเปิดประมูลได้ทันที่ประกาศคุ้มครองซิมดับจะสิ้นสุดวันที่ 15 ก.ย. 2557