posttoday

เทงบ3,712 ล.อุ้มเอสเอ็มอี

25 มิถุนายน 2557

คสช.อนุมัติงบ 3,712 ล้านอุ้มเอสเอ็มอีช่วยชดเชยค่าธรรมเนียม บสย. ค้ำเงินกู้ 1 ปี ต่ออายุภาษีดีเซลจนถึงสิ้นเดือนก.ค. พร้อมส่งสัญญาณเตรียมปล่อยตามกลไกหลังราคาน้ำมันโลกพุ่ง

คสช.อนุมัติงบ 3,712 ล้านอุ้มเอสเอ็มอีช่วยชดเชยค่าธรรมเนียม บสย. ค้ำเงินกู้ 1 ปี ต่ออายุภาษีดีเซลจนถึงสิ้นเดือนก.ค. พร้อมส่งสัญญาณเตรียมปล่อยตามกลไกหลังราคาน้ำมันโลกพุ่ง

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อนุมัติงบประมาณ 3,712 ล้านบาท ให้กระทรวงการคลังใช้สำหรับดำเนินโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอี  ซึ่งที่ผ่านมาประสบปัญหาขาดสภาพคล่องเนื่องจากประสบปัญหาหลายด้านทั้งจากภาวะเศรษฐกิจและภัยธรรมชาติ 

สำหรับโครงการนี้จะเป็นการจะเป็นการที่ภาครัฐเข้าไปชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันเงินกู้ปีแรก กรณีที่เอสเอ็มอีกู้เงินจากสถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชนและมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)เข้าไปค้ำประกันเงินกู้ซึ่งต้องเสียค่าธรรมเนียมที่อัตรา 1.75% ต่อปี โดยมาตรการจะช่วยให้เอสเอ็มอีมีสภาพคล่องและเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังได้มีการประสานไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ให้แจ้งต่อธนาคารพาณิชย์เพื่อให้ธนาคารให้การช่วยเหลือเอสเอ็มอี เช่น ในแง่ของการลดดอกเบี้ยเงินสินเชื่อ ซึ่งกรณีนี้ก็ได้รับการตอบรบจากธนาคารพาณิชย์เป็นอย่างดี

นายรังสรรค์ กล่าวว่า ที่ประชุม คสช. ยังได้เห็นชอบให้คงมาตรการการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ซึ่งทำให้จะยังคงเก็บภาษีอยู่ที่ 0.05% ต่อไปอีก 1 เดือน ไปจนถึงวันที่ 31 ก.ค. 2557 จากเดิมที่่จะสิ้นสุดในเดือนมิ.ย. 2557 เพื่อให้ประชาชนยังคงได้ใช้น้ำมันดีเซลในราคาไม่เกินลิตรละ 30 บาท

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ราคาน้ำมันกำลังอยู่ในทิศทางขาขึ้นเนื่องจากวิกฤตในอิรักซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก จึงขอให้ประชาชนใช้น้ำมันกันอย่างประหยัด และต่อไปอาจต้องขึ้นราคาน้ำมันให้เป็นไปตามราคาตลาดโลก

“ขอให้รายประชาชนเตรียมใจไว้ด้วย โดยขณะนี้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ที่บาร์เรลละ 115 เหรียญสหรัฐแล้ว หากยังเป็นเช่นนี้จะเป็นภาระต่อการนำเข้าอย่างมาก แม้ว่าภาครัฐต้องดูแลสถานการณ์ในประเทศ แต่ต้องคำนึงถึงสถานการณ์ในตลาดโลก” นายรังสรรค์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการต่ออายุภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในแต่ละเดือนจะทำให้กรมสรรพสามิตต้องสูญเสียรายได้ประมาณ 9,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อ 20 เม.ย.2554 และถ้านับจนถึง มิ.ย.2557. เท่ากับกรมสรรพสามิตได้เฉือนรายได้ไปกว่า 3.36ล้านบาท

ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุม คสช. ยังอนุมัติให้กระทรวงการคลังดำเนินการลงนามเพื่อเป็นสมาชิกในกองทุนสำรองพหุภาคีภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่(CMIM) ซึ่งจะทุนสำรองเพื่อช่วยเหลือชาติสมาชิกในอาเซียน 10 ประเทศและบวกอีก 3 ประเทศคือญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ กรณีที่ประเทศสมาชิกเกิดวิกฤตทางการเงิน ซึ่งขณะนี้ทุกประเทศได้ลงนามไปหมดแล้วเหลือเพียงประเทศไทยที่ไม่ลงนาม

ทั้งนี้ หลังลงนามเข้าเป็นสมาชิก CMIM แล้วประเทศไทยจะนำเงินเข้าสมทบกองทุนนี้โดยใช้เงินจากทุนสำรองระหว่างประเทศของ ธปท. ในจำนวน 9.104 พันล้านเหรียญสหรัฐ  โดยการสมทบกองทุนดังกล่าวนี้จะเป็นเงินจากทุนสำรองระหว่างประเทศของชาติสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศที่สัดส่วน 20% และเป็นเงินจากอีก 3 ประเทศที่ 80%