posttoday

ขนส่งประกาศ3โรคต้องห้ามทำใบขับขี่

17 มิถุนายน 2557

ขนส่ง เผยแพทยสภา เห็นชอบตั้งคณะกรรมการร่วมมีภาคประชาชน ถกเกณฑ์คุมเข้มใบรับรองแพทย์ผู้ขับขี่ คาด 30 วันรู้ผลเบื้องต้น ชี้ 3 โรคต้องห้าม หัวใจ เบาหวาน ลมชัก

ขนส่ง เผยแพทยสภา เห็นชอบตั้งคณะกรรมการร่วมมีภาคประชาชน ถกเกณฑ์คุมเข้มใบรับรองแพทย์ผู้ขับขี่ คาด 30 วันรู้ผลเบื้องต้น  ชี้ 3 โรคต้องห้าม  หัวใจ เบาหวาน ลมชัก

นายอัฌษไธค์  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือกับตัวแทนแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วันที่ 16 มิ.ย.เพื่อหาข้อสรุปเรื่องการปรับเงื่อนไขใบรับรองตรวจสุขภาพสำหรับผู้ที่ยื่นขอใบอนุญาตขับรถ ว่า  ได้เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการไตรภาคี 3 ฝ่าย  โดยมีนายวัฒนา พัทรชนม์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการเป็นประธาน เพื่อให้ได้ข้อสรุปหรือแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในเบื้องต้นภายใน 30 วัน  จากนั้นจะนำมาพิจารณาว่าจะนำไปสู่การกำหนดแนวปฏิบัติอย่างไร คาดว่าใช้เวลาอีก 1 – 2 เดือน ส่วนขั้นตอนการบังคับใช้ก็มีระยะเวลาในการออกประกาศต่างๆด้วย

“  เรื่องนี้ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ  เพราะมีรายละเอียดและต้องคำนึงว่าจะไม่เป็นการาเพิ่มภาระให้กับประชาชนด้วย จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ จึงได้ให้ตัวแทนภาคประชาชนและผู้ประกอบการเข้าร่วมด้วย เพราะการตรวจสอบโรคกับการกำหนดว่ามีความสามารถขับรถได้หรือไม่อยู่ที่การพิจารณาของแพทย์  รวมทั้งจะต้องหาทางทำให้ผู้ขับขี่ต้องมีส่วนรับผิดขอบต่อสังคมและมีจิตสำนึกด้วย “  นายอัฌษไธค์กล่าว

พล.อ.ต.นายแพทย์ อิทธพร คณะเจริญ  รองเลขาธิการแพทยสภา  กล่าวว่า ภายใน 30 วัน จะต้องมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เนื่องจากทางแพทยสภามีข้อเสนอที่ชัดเจน  เพราะได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลจากประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมทั้งผลวิจัยต่างๆ   แต่อาจนำไปสู่การปฏิบัติได้ยาก  จึงต้องไปพิจารณาให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงและกฎระเบียบของ ขบ.ด้วย   แต่ได้เสนอกลุ่มโรคที่จะต้องควบคุมเป็นอันดับแรกคือ ผู้ป่วยหัวใจและโรคเบาหวานขั้นรุนแรง  และผู้ป่วยโรคลมชัก

พล.อ.ต.นายแพทย์ อิทธพร กล่าวว่า  เนื่องจากผลการศึกษาในสหรัฐและยุโรป พบว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด อันดับแรกคือเมาสุรา  อันดับสองคือโรคหัวใจ อันดับสามคือโรมเบาหวานและอันดับสี่คือโรคลมชัก ซึ่งข้อมูลนี้ใกล้เคียงกับประเทศไทยและประเทศอื่นๆทั่วโรค โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคลมชักในสหรัฐอเมริกาเฉลี่ยที่ 4% เมืองทั้งประเทศ ส่วนไทยอยู่ที่ 2 – 4 %ของพลเมือง 65 ล้านคน  หรือมีผู้ป่วยโรคลมชักรวม  1.2 – 2.4 ล้านคน ในจำนวนนี้คาดว่ามีหลายแสนคนที่มีใบอนุญาตขับขี่รถ ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงต่อผู้ใช้รถใช้ถนน

“ ส่วนคณะกรรมการร่วมไตรภาคี  ประกอบด้วย ขบ. แพทยสภา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือเป็นผู้มีส่วนได้เสีย  เช่น ผู้ประกอบการ  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  ตำรวจจราจร  องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัทขนส่ง จำกัด(บขส.) จะได้มาร่วมกำหนดแนวปฏิบัติร่วมกัน เมื่อนำไปประกาศใช้จะได้ไม่เกิดปัญหาข้อโต้แย้งใดๆ” พล.อ.ต.นายแพทย์ อิทธิพร กล่าว

นอกจากนี้   พล.อ.ต.นายแพทย์ อิทธพร กล่าวว่า  ในระหว่างที่จะต้องรอขั้นตอนการประกาศเพื่อให้มีผลบังคับใช้นั้นต้องใช้ระยะเวลา ตนได้เสนอให้มีการจัดทำโครงการ Safety Driver เพื่อเชิญชวนให้ผู้ประกอบการรถขนส่งสาธารณะจัดส่งพนักงานขับรถเข้าร่วมในการตรวจสุขภาพโรคที่อาจเป็นอันตรายต่อการขับรถเหล่านี้ และมีใบรับรองให้   หากพบเป็นโรคต้องห้ามจะได้สามารถรักษาได้ทันท่วงที  และจะเกิดผลดีต่อผู้ขับรถที่จะทำให้ผู้ประกอบการต้องดูแลใส่ใจสุขภาพของผู้ขับขี่ หากผู้ขับขี่มีสุขภาพดี ทำให้ช่วยลดอุบัติเหตุ ก็จะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีรายได้ที่ดีด้วย

พล.อ.ต.นายแพทย์ อิทธพร กล่าวว่า ใบรับรองแพทย์ที่ใช้ในปัจจุบันเป็นการตรวจสุขภาพว่าไม่มีปัญหาต่อการขับขี่ แต่ไม่ได้กำหนดโรคหลักๆที่มีผลกระทบต่อใบขับขี่  ดังนั้นในหลักปฏิบัติซึ่งเป็นหลักสากล จะต้องให้ผู้ขับขี่กรอกประวัติเพื่อรับรองตัวเองว่าเคยเป็นโรคอะไรอย่างไรหรือไม่ และหากให้ข้อมูลเป็นเท็จเมื่อเกิดอุบัติหรือตรวจพบจะต้องมีบทลงโทษด้วย อีกส่วนหนึ่งการตรวจสอบโรคที่สำคัญจะต้องอยู่ที่การวินิจฉัยของแพทย์ที่จะกำหนดว่าแต่ละโรคอาการขนาดไหนที่ต้องห้ามขับรถ และอาการใดที่ยังขับรถได้ เป็นต้น