posttoday

หวั่นยอดขายรถปี57วูบ5-10%

16 มิถุนายน 2557

สถาบันยานยนต์หวั่นยอดขายรถยนต์ปี57 วูบ 5-10% หลัง 2 ครึ่งปีแรกยอดขายร่วงกว่า 30%

สถาบันยานยนต์หวั่นยอดขายรถยนต์ปี57 วูบ 5-10% หลัง 2 ครึ่งปีแรกยอดขายร่วงกว่า 30%

นายวิชัย จิราธิยุต ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยว่า จากการประเมินล่าสุดของสถาบันยานยนต์คาดว่ายอดขายรถยนต์ทุกชนิดในปีนี้จะลดลงประมาณ 5-10% เมื่อเทียบกับปี 2556 เนื่องจากยอดขายภายในประเทศลดลงมาก โดย ครึ่งแรกของปีหดตังลงกว่า 30%ขณะที่การส่งออกก็ไม่ได้ขยายตัวมากโดยคาดว่าขะขยายตัวอยู่ที่ 5% ไม่สามารถชดเชยยอดขายในประเทศที่ตกลงได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม คาดว่ายอดขายรถยนต์ในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวประมาณ 10% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก เนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาบริหารประเทศ ทำให้ความวุ่นวายทางการเมืองเข้าสู่ความสงบ สามารถจ่ายเงินจำนำข้าวให้กับชาวนาได้ทั่วประเทศ และยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะทยอยออกมาอีกมาก ทำให้คาดว่าในครึ่งปีหลังจะมีกำลังซื้อรถยนต์จะกลับมาเพิ่มขึ้นมากกว่าในครึ่งปีแรกประมาณ 10% ขณะที่ยอดส่งออกก็โตตามตลาดโลกที่ยังคงขยายตัวได้ดี

“แม้ว่า คสช. จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน แต่ก็ไม่สามารถกระตุ้นยอดซื้อในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้เร็ว เพราะว่าในช่วงของนโยบายรถยนต์คันแรกในปีที่ผ่านมา ได้ดูดซับกำลังซื้อในอนาคตไปเป็นจำนวนมาก แต่เป้าหมายการผลิตรถยนต์ 3 ล้านคันในปี 2560 ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเชื่อว่าความต้องการรถยนต์ยังจะขยายตัว” นายวิชัย กล่าว

นายวิชัยกล่าวว่า สำหรับแผนในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศนั้น สถาบันยานยนต์ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ในการผลักดันโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบและวิจัยพัฒนายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ รวมทั้งจัดทำสนามทดสอบการจำลองสถานการณ์การขับขี่เพื่อประเมินสมรรถนะสำหรับทดสอบรองรับมาตรฐานในประเทศและมาตรฐานอาเซียน รวมถึงด้านการวิจัย โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี โดยแบ่งเป็น 2 เฟส เฟสแรกเป็นการตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์ มูลค่า 2-3 พันล้านบาท และเฟสสองเป็นการสร้างสนามทดสอบรถยนต์ มูลค่า 4-5 พันล้านบาท ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถตรวจสอบและรับรองมาตรฐานรถยนต์อาเซียนได้ทั้งหมด 19 รายการ จากทั้งหมด 19 รายการ

โดยหากสามารถตั้งศูนย์ทดสอบฯแห่งนี้ได้ จะทำให้ไทยสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีผลิตชิ้นส่วนที่เป็นผู้ประกอบการไทย 100% จะได้รับการพัฒนาจนมีมาตรฐานสามารถแข่งขันในตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ได้ทุกชาติ ซึ่งหากเอสเอ็มอีกลุ่มนี้ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างจริงจัง ก็อาจทำให้ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ทั้งหมด 1,850 ราย จะมีจำนวนเกือบครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 900 ราย ที่ไม่สามารถแข่งขันหลังเปิดเออีซีได้