posttoday

แรงงานไทยเผชิญหนี้พุ่ง-รายได้ต่ำแย่สุดรอบ5ปี

24 เมษายน 2557

หอการค้าสำรวจแรงงานไทย ค่าแรงต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน พบภาวะแรงงานไทยแย่สุดรอบ 5 ปี หนี้พุ่งสูง รายได้ไม่พอใช้ หันกู้นอกระบบ

หอการค้าสำรวจแรงงานไทย ค่าแรงต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน พบภาวะแรงงานไทยแย่สุดรอบ 5 ปี หนี้พุ่งสูง รายได้ไม่พอใช้ หันกู้นอกระบบ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและหอการค้าไทย ได้ทำสำรวจ สถานภาพของแรงงานไทย ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท โดยได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,200 คน ระหว่างวันที่ 17-21 เม.ย.ที่ผ่านมาพบว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของแรงงานไทยแย่สุดในรอบ 5-6 ปี โดยแรงงานกำลังเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้น รายได้จากการปรับค่าแรง 300 บาทไม่พอค่าใช้จ่าย มีปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนมากขึ้น และต้องหันไปกู้นอกระบบเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้แรงงานในปัจจุบันมีภาวะหนี้ในสัดส่วน 93.7% และไม่มีหนี้ 6.3% โดยแรงงานไทยมีหนี้สินครัวเรือนเฉลี่ย 106,216 บาท และมีเงินต้องผ่อนชำระต่อเดือน 6,639 บาทต่อเดือน ถือว่ามีหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นในรอบ 5-6 ปี แบ่งเป็นหนี้ในระบบ 43.9% และหนี้นอกระบบ 56.1% โดยแรงงานส่วนใหญ่หันไปกู้เงินนอกระบบมากขึ้น เนื่องจากการการกู้เงินในระบบมีความเข้มงวด และหนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการกู้เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในการดำรงชีวิตทั่วไป

ขณะเดียวกัน แรงงานส่วนใหญ่มีปัญหารายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย ในสัดส่วน 74.3% มีเพียง 25.7% ที่ไม่มีปัญหาเรื่อง รายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย โดยสาเหตุที่แรงงานมีรายได้ไม่พอค่าใช้จ่ายมาจาก ราคาสินค้าแรงขึ้น รายได้ลดลง และดอกเบี้ยสูงขึ้น ส่งผลให้แรงงานส่วนใหญ่ไม่มีเงินออม ซึ่งแรงงานอยากให้ค่าจ้างขึ้นต่ำในอีก 3 ปีข้างหน้าอยู่ที่ 498 บาท และค่าจ้างขั้นต่ำใน 5 ปีอยู่ที่ 579 บาท

สำหรับการประเมิน การใช้จ่ายของแรงงานในวันแรงงาน 1 พ.ค.นี้ คาดว่าจะมีเงินสะพัดประมาณ 1,965 ล้านบาท ขยายตัว 2.3% จากปีก่อน ถือว่าต่ำสุดในรอบ 4 ปีนับตั้งแต่ปี 2553 เป็นผลมาจาก ค่าครองชีพ และราคาสินค้าสูงขึ้น โดยกิจกรรมที่แรงงานจำในวันหยุดแรงงานคือ สังสรรค์ มากสุด 28.6% รองลงมาทำบุญ 24% และซื้อของและเที่ยวในห้างสรรพสินค้า 19.2% โดยจะมีการใช้จ่ายในช่วงวันหยุดเฉลี่ย 957.68 บาท

ทางด้านสิ่งที่ต้องการให้รับบาลช่วยเหลือคือ 1 ดูแลค่าครองชีพ ค่าแรงงานให้เหมาะสมกับกลไกค่าครองชีพ 2. ดูแลเรื่องสวัสดิการที่เหมาะสม 3 แก้ปัญหาการเมืองให้เร็วที่สุด 4.กระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว และ 5. เพิ่มทักษะฝีมือแรงงานให้มีคุณภาพมากขึ้น