posttoday

อ่วมค่าเอฟทีขึ้นตามต้นทุน

08 เมษายน 2557

กฟผ.ส่งสัญญาณร้ายขึ้นค่าเอฟทีงวดเดือน พ.ค.ส.ค. ผลจากเงินบาทอ่อนต้นทุนพุ่ง ลุ้นเคาะเดือนนี้

ส่งสัญญาณชี้ชะตากันเดือนนี้ขยับ5-7สต.กฟผ.แบกภาระไม่ไหวแถมเจอบาทอ่อน

กฟผ.ส่งสัญญาณร้ายขึ้นค่าเอฟทีงวดเดือน พ.ค.ส.ค. ผลจากเงินบาทอ่อนต้นทุนพุ่ง ลุ้นเคาะเดือนนี้

นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงแนวโน้มอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) รอบเดือน พ.ค.-ส.ค.ที่จะถึงนี้ ว่า มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่คิดอยู่ 59 สตางค์/หน่วย เพราะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จะประชุมเพื่อพิจารณาค่าเอฟทีกันภายในเดือน เม.ย.นี้ ส่วนจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใดต้องหารือกันถึงมีผลกระทบอย่างละเอียด รายงานข่าวแจ้งว่า จะมีการเสนอให้ปรับค่าเอฟทีขึ้นอีก 57 สตางค์

นายสุนชัย กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลทำให้ค่าไฟฟ้าขยับสูงขึ้น มาจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับงวดที่ผ่านมา โดยค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง 1 บาท/เหรียญสหรัฐ จะส่งผลต่อค่าเอฟทีให้เพิ่มขึ้น 56 สตางค์/หน่วย

ประการต่อมา เป็นผลมาจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่ต่ำกว่าประมาณการที่เคยคาดไว้ โดยการใช้ไฟ 3 เดือนที่ผ่านมาลดลงร่วม 3.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้น

ประการสุดท้าย การผลิตไฟฟ้าจากน้ำในเขื่อนมีแนวโน้มลดลงจากช่วง 4 เดือนแรก เนื่องจากเดือน พ.ค. เป็นช่วงที่ต้องกักเก็บน้ำไว้สำรองในช่วงฤดูฝน

“ตามปกติในเดือน พ.ค. ซึ่งเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนจะต้องกักเก็บน้ำเอาไว้ การผลิตไฟจากน้ำก็จะลดต่ำลง ซึ่ง กฟผ.เองก็กำลังคิดว่าจะรับซื้อไฟพลังน้ำจาก สปป.ลาว เข้ามาช่วยให้ค่าไฟถูกลง” นายสุนชัย กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของไทยสูงสุด 2.6 หมื่นเมกะวัตต์ แต่ยังไม่สูงสุดจากที่ประมาณไว้ว่าจะมีปริมาณการใช้ไฟสูงสุดที่ 2.67 หมื่นเมกะวัตต์

นายสุนชัย กล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงการผลิตสูงถึง 70% โดยมีแนวโน้มจะต้องใช้ก๊าซที่นำเข้าในรูปแบบของก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ซึ่งมีราคาสูงกว่าก๊าซในอ่าวไทย โดยการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซผสมกับแอลเอ็นจีทำให้มีต้นทุนอยู่ที่ 4.2 บาท/หน่วย ซึ่งหากใช้แอลเอ็นจีมากขึ้นต้นทุนก็สูงขึ้น

ขณะที่การผลิตไฟจากถ่านหินมีราคาแค่ 2.5 บาท/หน่วย ดังนั้นหากต้องการรักษาระดับค่าไฟไม่ให้สูง การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจะเป็นทางเลือกที่จำเป็น