posttoday

ชีวิตออฟไลน์ บ๊ายบาย สังคมก้มหน้า 

08 เมษายน 2557

คนบางคนกลับต้องการยอดไลค์สูงๆ เพื่อให้ตัวเองมีความสุข ถามว่า บางคนเสพติดความพอใจเหล่านี้มั้ย ต้องยอมรับว่า ความพอใจก็คือ ความสุข

โดย...พุสดี สิริวัชระเมตตา

แดนนี่ โบว์แมน หนุ่มอังกฤษวัย 19 ปี เกือบต้องสิ้นชื่อ หลังพยายามก่อเหตุกินยาฆ่าตัวตาย เพราะไม่สามารถถ่ายรูปเซลฟี่ที่สมบูรณ์ให้ได้ เคราะห์ดีที่แม่ของเขาช่วยเหลือได้ทัน ตอนนี้เขาต้องรับการบำบัดจากอาการที่เรียกว่า OCD หรืออาการกระวนกระวายเกี่ยวกับภาพลักษณ์ตัวเอง

แดนนี่ใช้เวลากว่า 10 ชม. ถ่ายภาพตัวเองกว่า 200 ภาพในแต่ละวันผ่านไอโฟน ยอมหยุดเรียน ไม่ออกจากบ้านเป็นเวลากว่า 6 เดือน และพยายามลดน้ำหนักให้มากที่สุดเพื่อให้ตัวเองดูดีเวลาถ่ายภาพ แพทย์ที่รักษาบอกว่า พฤติกรรมเซลฟี่ถือว่าเป็นอาการป่วยทางจิตประเภทหนึ่ง ที่น่าสนใจคือแดนนี่เป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายล้านคนของผู้ที่มีอาการป่วยทางจิตนี้

จากอุทาหรณ์นี้ เป็นอีกหนึ่งแรงกระตุกสำคัญที่ชวนให้มนุษย์ในโลกออนไลน์ทั้งหลายได้ใส่เกียร์ถอยกลับมาคิดว่ากำลังหลงระเริงไปในเส้นทางมรณะแบบแดนนี่อยู่หรือเปล่า

ชีวิตออฟไลน์ บ๊ายบาย สังคมก้มหน้า 

คนไทยในโลกออนไลน์

โซเชียล แรงค์ (Zocial Rank) เว็บไซต์เก็บข้อมูลสถิติต่างๆเกี่ยวกับเครือข่ายสังคมออนไลน์ เปิดเผยสถิติการใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์กของคนไทยในช่วงปี 2012-2013 ว่า ประเทศไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 25 ล้านคนจากจำนวนประชากร 66 ล้านคน ในจำนวนนี้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก 18 ล้านคน

โซเชียลเน็ตเวิร์กที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ เฟซบุ๊ก มีผู้ใช้คิดเป็น 85% รวมยอดการโพสต์ข้อความแต่ละวันอยู่ที่ 31 ล้านโพสต์ ตามมาด้วยทวิตเตอร์ 10% มีการทวีต 5 ล้านทวีตต่อวัน และอินสตาแกรม 5% มีการแชร์รูป 1.24 แสนรูปต่อวัน

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนพฤติกรรมของคนไทยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ในแง่หนึ่ง ต้องยกเครดิตให้เครือข่ายสังคมออนไลน์เหล่านี้ว่า ช่วยย่อโลกใบเดิมให้เล็กลงมาอยู่แค่หน้าจอ ช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้แบบเรียลไทม์ ช่วยเชื่อมโยงและสร้างมิตรภาพได้แบบไร้พรมแดน แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ ผลพวงจากการอยู่ในสังคมออนไลน์อย่างไม่รู้เท่าทัน

ยาย่า-ศุภนิดา สกุลตั้งไพศาล คือ หนึ่งในตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ปฏิเสธโลกเสมือนจริงนี้ แต่ขออยู่อย่างเท่าทัน ยาย่าเล่าว่า เธอก็เหมือนวัยรุ่นทั่วไปที่อยู่กับโลกไซเบอร์ โชเชียลเนตเวิร์กที่ได้รับความนิยม เธอสมัครเป็นสมาชิกหมด จนวันหนึ่ง เธอเกิดไอเดียว่า อยากจะมีชีวิตออฟไลน์จากโลกไซเบอร์บ้าง ดังนั้น เธอจึงใช้ตัวเองเป็นหนูทดลอง ตัดขาดออกจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ทั้งหมดเป็นเวลา 2 เดือน โดยที่ยังใช้ชีวิตในด้านอื่นไปอย่างปกติ ยังคงไปทำงาน กินข้าว กินน้ำเหมือนเดิม

“ยอมรับนะว่า ช่วงแรกๆ ก็แอบหงุดหงิดบ้าง อยากจะเข้าไปดูเฟซบุ๊กว่าใครทำอะไร เจออะไรไปกินอะไร อยากถ่ายรูปแชร์ให้เพื่อน 2-3 สัปดาห์แรกผ่านไป กว่าจะรู้สึกสงบ

ปัญหาที่ยาย่าเจอคือ เพื่อนติดต่อเราไม่ได้ เพราะบางคนก็ติดต่อผ่านโลกไซเบอร์ เพื่อนก็จะงงว่าเราหายไปไหน แต่ในเรื่องการทำงาน ก็ไม่ได้กระทบอะไรมาก เรายังคุยโทรศัพท์ รับส่งอีเมลเหมือนเดิม”

สิ่งที่ยาย่าบอกว่า ได้รับจากการทดลองครั้งนี้ คือ ได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น เธอบอกว่า คนเราไม่รู้ตัวว่าในแต่ละวันเรารับเรื่องราวมากขนาดไหน อย่างตอนที่เธอกลับมาใช้โซเชียลเนตเวิร์กอีกครั้ง มาดูข้อความที่ส่งมาทางไลน์ ในช่วง 2 เดือน มีทั้งหมด 5,000 ข้อความ ซึ่งสะท้อนว่าเพียงแค่การสื่อสารช่องทางเดียว เรายังต้องรับข้อมูลมากขนาดนี้

“บางครั้งปัญหาของคนอื่นที่เราไปรับรู้ ก็กลายเป็นปัญหาของเราไปเหมือนกันนะ ทำให้เราเครียดตามไปด้วย หรืออย่างการสื่อสารที่รวดเร็วสมัยนี้ ยาย่าว่ามันทำให้เกิดการคาดหวังอีกมิติหนึ่งขึ้นมา เช่นไลน์มาถ้าขึ้นว่าอ่านแล้ว อีกฝ่ายก็จะคาดหวังว่าต้องได้รับคำตอบทันที หรือ มีเพื่อนมาไลค์ มาแสดงความเห็นในเฟซบุ๊กเขาก็คาดหวังว่าเราจะตอบทันที ก็เป็นอีกหนึ่งความคาดหวังที่เราต้องแบกรับเหมือนกัน”

ชีวิตออฟไลน์ บ๊ายบาย สังคมก้มหน้า 

ระวัง คนเหงาติดโลกออนไลน์งอมแงม

รศ.นพ.ศิริไชย หงษ์สงวนศรี อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า เหตุผลที่คนในสังคมเสพติดโลกออนไลน์มากขึ้น เพราะเครือข่ายสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือ ไลน์ก็ดี สามารถตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี นั่นคือ ความต้องการมีสังคมเครือข่าย ขณะเดียวกันก็ยังต้องการพื้นที่ส่วนตัวไว้

“สังเกตว่าเฟซบุ๊กทำให้คนเรามีสังคมใหม่ มีกลุ่มก้อน เป็นการตอบสนองความต้องการแต่ขณะเดียวกัน เวลาสื่อสารในโลกออนไลน์เราไม่จำเป็นต้องมีปฏิกิริยาตอบสนองทันที เท่ากับว่า เรายังรักษาความเป็นส่วนตัวไว้ได้ และยังสามารถปรุงแต่งตัวเองให้ดูดีได้ เพราะมีเวลาคิดไตร่ตรองก่อนที่จะตอบหรือสื่อสารอะไรออกไป ต่างจากการสื่อสารแบบต่อหน้า อย่างไรก็ตาม การสื่อสารในโลกออนไลน์ จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่อยู่ในข่ายกลัวการแสดงออกต่อหน้าผู้อื่น (Socialphobia)”

อ.ศิริไชย ยังตีแผ่ถึงจิตใจของผู้ที่หันมาสมัครเป็นพลเมืองของโลกออนไลน์มากขึ้นว่า คนกลุ่มนี้อาจมีปมด้อยในตัวเอง คิดว่าตัวเองไม่ดี ไม่เด่นพอ ขาดความภูมิใจในตัวเอง จึงต้องหาสิ่งอื่นมาชดเชยเรียกความมั่นใจ เช่น โพสต์รูปแล้วอยากให้มีคนมากดไลค์ หรือแสดงความคิดเห็น ประหนึ่งเป็นการวัดเรตติ้งว่ายังมีตัวตน ยังมีคนให้ความสนใจ

“สังเกตว่าคนที่มีความภูมิใจในตัวเองอยู่แล้ว อาจไม่การต้องสิ่งเหล่านี้มากนัก กลับกัน คนบางคนกลับต้องการยอดไลค์สูงๆ เพื่อให้ตัวเองมีความสุข ถามว่า บางคนเสพติดความพอใจเหล่านี้มั้ย ต้องยอมรับว่า ความพอใจก็คือ ความสุข ซึ่งความสุขก็เป็นสิ่งเสพติดอย่างหนึ่ง ยกตัวอย่างบางคนติดยา ก็เพราะคิดว่าสิ่งเสพติดนั้นทำให้มีความสุข ถามว่าการเสพติดความสุขในแบบนี้มีผลเสียมั้ย แน่นอน เพราะแทนที่จะไปหาความภาคภูมิใจเพื่อสร้างความสุขให้ตัวเองด้วยกิจกรรมอื่น”

สำหรับสาเหตุแท้จริงที่ทำให้ คนในสังคมหลงระเริงในโลกออนไลน์ อ.ศิริไชย มองว่า ต้องย้อนไปตั้งแต่การเลี้ยงดูปลูกฝังในวัยเด็ก ถ้าพ่อแม่ให้ความรักลูกอย่างใกล้ชิด ให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ฝึกให้เด็กได้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย ให้เขารู้ว่าตัวเขาเองมีประโยชน์ แทนที่จะให้เอาแต่เรียน พอเรียนได้ไม่ดีก็ผิดหวัง คิดว่าตัวเองไม่มีศักยภาพ ไม่ภูมิใจในตัวเอง กลายเป็นปมด้อย แต่ถ้าเด็กมีกิจกรรมอื่นมาทดแทน ไม่เก่งเรียนก็เล่นกีฬาเก่ง เด็กก็มีสิ่งทดแทน และเห็นคุณค่าในตัวเอง

ชีวิตออฟไลน์ บ๊ายบาย สังคมก้มหน้า 

เช็กด่วน...คุณเข้าขั้นเป็นคนติดโซเชียลเน็ตเวิร์ก

1.ปี๊บเมื่อไหร่ เป็นต้องขอรีเฟรชดูทุกครั้ง

2.ช่างไลค์ช่างเลิฟ ถูกใจไปได้ทุกอย่าง

3.เจออะไร ขอแชร์ไว้ก่อน

4.ไปไหน ต้องประกาศให้โลกรู้ ขอเช็กอินไว้ก่อน

5.หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูทุก 510 นาที ติดตามความเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ไม่ให้พลาด

6.โพสต์แล้วต้องรอ เก็บสถิติใครมาไลค์ ใครมาเมนต์

7.เจ้าบทเจ้ากลอน เห็นคำคม ประโยคซึ้ง ต้องขอโพสต์ขอแชร์

8.เข้าร้านไหน เสิร์ฟปุ๊บขอแชะและแชร์ก่อนชิม

9.ตื่นเช้าก่อนนอน เจอเพื่อนในโลกออนไลน์เป็นคนแรก

10.อยากเจอตัว ไม่ต้องนัด ไม่ต้องเจอตัว พบกันในแชตออนไลน์ ตอบไวกว่ารับโทรศัพท์