posttoday

"อันเฟรนด์"ปรากฏการณ์สังคมขัดแย้งรุนแรง

05 กุมภาพันธ์ 2557

สิ่งใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อนเลยคือการ hate speech กันผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก จนนำไปสู่ hate crime บนท้องถนน

โดย...โพสต์ทูเดย์ออนไลน์

เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2557 เป็นวันครบรอบสิบปีของเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ทรงอิทธิพลและได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก นั่นคือ เฟซบุ๊ก

เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 13 ด้วยจำนวน 18.3 ล้านบัญชี คิดเป็น 27 % ของประชากรทั้งประเทศแถมกรุงเทพมหานครยังเป็นเมืองที่มีคนเล่นเฟซบุ๊กมากที่สุดในโลกด้วย

ทว่าตลอดระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมานับตั้งแต่สังคมไทยได้รู้จักกับเฟซบุ๊ก ปรากฏการณ์ใหม่ๆน่าสนใจที่เกิดขึ้นได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนไทยไปอย่างไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว 

ล่าสุดเว็บไซต์ข่าว วอยซ์ ออฟ อเมริกา รายงานว่าในวันที่สถานการณ์บ้านเมืองเข้าขั้นวิกฤตคนไทยแบ่งสีแบ่งขั้ว แตกแยกเป็นฝักฝ่ายปฏิเสธไม่ได้ว่าการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นเรื่องล่อแหลมสุดๆ

ความแตกแยกของสังคมไทยไม่เพียงเห็นได้บนท้องถนนเท่านั้น แต่ยังเห็นได้จากบนโซเชียลมีเดียอีกด้วย เห็นได้จากการที่คนไทยรวมกลุ่มกันพูดเรื่องการเมืองซึ่งกำลังเป็นข้อถกเถียงที่รุนแรงในปัจจุบัน ส่งผลถึงขนาดทำให้ผู้ที่มีความเห็นทางการเมืองต่างกัน เริ่มมีการ “Unfriend” กันและกัน จนทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถมองเห็นรูป ความคิดเห็นและสถานะได้อีก

ปรากฏการณ์อันเฟรนด์ดังกล่าวไม่เป็นผลดีต่อภาพรวมของการเมืองไทย เนื่องจากผู้คนเริ่มขาดการสนทนากัน ทำให้การเมืองมีลักษณะแบ่งขั้วมากขึ้น

สอดคล้องกับผลการสำรวจของ คริสโตเฟอร์ ไซโบนา นักศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด เดนเวอร์ บิซิเนส สคูล สหรัฐอเมริกา พบว่า มีผู้คนราว 40% บอกว่าพวกเขาจะหลีกเลี่ยงการพบปะพูดคุยกับคนที่ลบเขาออกจากการเป็นเพื่อนบนเฟซบุ๊ก โดยผลวิจัยอธิบายว่าผู้คนชอบคิดว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นเรื่องสนุกแต่ความจริงแล้วสิ่งที่คุณทำบนโลกออนไลน์มันสามารถเกิดผลกระทบตามมาบนโลกแห่งความเป็นจริงได้ เพราะผลกระทบที่เกิดกับผู้ที่ถูกตะเพิดออกจากสังคมของเพื่อนคือการเคารพในตัวเองน้อยลง ความรู้สึกไม่ได้เป็นส่วนหนึ่ง และสูญเสียการควบคุมไป ที่สำคัญคือ คนคนนั้นจะรู้สึกอารมณ์เสียอย่างมากหลังจากถูกเพื่อนอันเฟรนด์

บางคนอันเฟรนด์กันไปด้วยเหตุผลที่ว่าหลีกเลี่ยงการปะทะกับคนที่มีความเห็นไม่ตรงกัน บางคนอันเฟรนด์คนอื่นแต่ยังเชื่อว่าในโลกความจริงยังคุยกันได้ คำถามน่าสนใจคือจะมีสักกี่คนที่แยกแยะออกระหว่างโลกออนไลน์กับโลกความจริงได้โดยปราศจากอคติ

มีความเห็นน่าสนใจของผู้ที่ใช้เฟซบุ๊กเป็นประจำ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ที่เคยโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวไว้อย่างน่าคิดว่า

"สถานการณ์การเมืองแบบนี้ ถ้าบนหน้าFacebook ของคุณไม่มีโพสต์ที่เนื้อหาขัดหูขัดตาของคนที่มีความเห็นแตกต่างปรากฏอยู่เลย แสดงว่าคุณเริ่มพูดคุยและเลือกคบแต่เฉพาะกับกลุ่มคนที่คิดเห็นเหมือนกัน พอเป็นแบบนี้คุณก็จะยิ่งรับฟังข้อคิด ข้อมูล และจะเห็นด้วยไปกับเพื่อนๆที่คิดอะไรเหมือนๆ กันมากขึ้นเรื่อยๆและก็อาจไม่ฟัง (เพราะไม่มีโอกาสฟัง) และไม่เข้าใจคนที่คิดต่างมากขึ้นไปเรื่อยๆ ปรากฏการณ์นี้ เรียกว่า Group polarization ซึ่งอาจนำไปสู่การแบ่งขั้วที่รุนแรงและมันเกิดขึ้นได้เพราะขาดการสื่อสารข้ามกลุ่ม เพราะฉะนั้นขอให้ถือเป็นเรื่องที่ดีถ้ามีความเห็นต่างปรากฏบนเฟซบุ๊กของเรา (และถ้าจะให้ดีก็อ่านและทำความเข้าใจไปด้วย)"

ปิดท้ายที่การวิเคราะห์ของ ดร.วิชัย รูปขำดี อาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นิด้า ที่ออกโรงเตือนว่าอาชญากรรมทุกวันนี้ ไม่ได้เกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจหรืออื่นๆอย่างที่เช่นในอดีต หากเป็นความคิดเห็นแตกต่างทางการเมือง

“เรากำลังเจอปัญหาสังคมที่กว้างขวางและซับซ้อนขึ้น สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นซึ่งเราไม่เคยเจอมาก่อนเลยคือการ hate speech กันผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก จนนำไปสู่ hate crime บนท้องถนน ที่คนไม่รู้จักกันก็ฆ่ากันได้"ดร.วิชัยระบุ