posttoday

บินไทยเดินหน้าปลด‘อำพน’

02 มกราคม 2557

สมาคมนักบินนัดถกท่าที 5 ม.ค.นี้.ยืนยันให้เปลี่ยนประธานรักษาการดีดี

นักบินการบินไทยขู่หยุดบินกดดันให้รัฐบาลปลดประธานบอร์ดพ้นเก้าอี้ หาคนมาทำหน้าที่แทนรักษาการดีดี

สมาคมนักบินไทยนัดประชุมในวันที่ 5 ม.ค.นี้ เพื่อกำหนดท่าทีการประกาศให้นักบินสังกัด บริษัท การบินไทย หยุดบิน เพื่อกดดันให้ พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รมช.คมนาคม พิจารณาปลด นายอำพน กิตติอำพน พ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท การบินไทย และเลือกบุคคลที่เหมาะสมมาทำหน้าที่แทน นายโชคชัย ปัญญายงค์ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี)

ทั้งนี้ การประชุมกำหนดท่าทีในครั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2556 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยได้เข้าพบ พล.อ.พฤณท์ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าว แต่ไม่ได้รับการสนองตอบ ดังนั้น นักบินการบินไทยจึงได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อกดดันอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอให้มีการเปลี่ยนประธานกรรมการ และรักษาการดีดี เนื่องจากในปี 2556 บริษัท การบินไทย ประสบภาวะขาดทุนถึง 8,000 ล้านบาท นอกจากนี้ การบริหารงานของนายอำพนขาดความโปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งบุคลากร การดึงหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างมาอยู่ภายใต้กำกับของตนเอง

ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ผ่านมาผลการบริหารที่ขาดธรรมาภิบาลได้ส่งผลให้มีนักบินลาออกร่วม 100 คน ฝ่ายช่างลาออกกว่า 200 คน ทำให้การบินไทยมีปัญหาสมองไหลมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การเปิดให้บริการสายการบินไทยสมายล์ ก็ขาดความโปร่งใสในการบริหารจัดการ ซึ่งอาจจะไม่ผ่านการตรวจสอบของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATAS) หรือไออาตา ที่จะเดินทางมาตรวจสอบในวันที่ 17 ก.พ.ที่จะถึงนี้

“นักบินที่กำลังจะลาออก บอกว่า เขาหมดหวังจากการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ตอนนี้นักบินการบินไทยได้เงินเดือนน้อยกว่าบางกอกแอร์เวย์ส ทุกสายการบินได้กำไรกันหมด แต่การบินไทยขาดทุน สิ่งเหล่านี้ดอกเตอร์อำพนและรักษาการดีดีต้องรับผิดชอบ ถ้าไม่ออก ทั้งนักบิน พนักงานและสหภาพฯ จะกำหนดท่าทีที่ชัดเจนให้ทุกอย่างจบภายใน 3 วัน” แหล่งข่าว ระบุ

แหล่งข่าว เปิดเผยอีกว่า การบริหารงานในการบินไทยในปัจจุบันยังมีความไม่ชอบมาพากลหลายประการ เช่น การอนุมัติให้ใช้เครื่องโบอิ้ง 747-400 ไปดัดแปลงเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้า วงเงิน 1,500 ล้านบาท ซึ่งไม่มีความคุ้มค่าและไม่มีความโปร่งใส

นอกจากนี้ สาเหตุการบริหารจัดการที่ขาดทุนต่อเนื่อง เพราะไม่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อลดต้นทุน เช่น ปัจจุบันการบินไทยให้บริการจองตั๋วเดินทางผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เพียง 4% เนื่องจากมีการผูกขาดการจองผ่านเอเยนซี ขณะที่แอร์เอเชีย นกแอร์ กลับมียอดการจองผ่านอินเทอร์เน็ตกว่า 60%

อย่างไรก็ตาม ผลการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พล.อ.พฤณท์ ของกลุ่มสหภาพฯ ก่อนนี้ พล.อ.พฤณท์ อ้างว่าจะต้องหารือกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม อีกครั้ง รวมทั้งยังมีท่าทีสนับสนุนนายอำพนและนายโชคชัยทำหน้าที่ต่อไป โดยอ้างว่า การปรับเปลี่ยนบุคลากรในช่วงนี้ไม่น่าจะเกิดประโยชน์สูงสุด

นายดำรงค์ ไวยคณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ยืนยันว่า พนักงานการบินไทยต้องการให้เปลี่ยนประธานบอร์ด และให้บอร์ดคนใดคนหนึ่งมาทำหน้าที่รักษาการดีดีแทนนายโชคชัย

จากการสอบถามเรื่องดังกล่าวไปยังนายอำพนไม่สามารถติดต่อได้