posttoday

4องค์กรยังข้องใจความโปร่งใสโครงการ2ล้านล.

17 ธันวาคม 2556

4 องค์กรหวั่นโครงการลงทุน 2 ล้านล้าน ไม่ช่วยกระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจไทย เหตุขาดความชัดเจนในการใช้จ่ายเงิน

4 องค์กรหวั่นโครงการลงทุน 2 ล้านล้าน ไม่ช่วยกระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจไทย เหตุขาดความชัดเจนในการใช้จ่ายเงิน

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. นายพิสิฐ ลี้อาธรรม คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในงานเสวนา "หยุด 2 ล้านล้าน มรดกหนี้แห่งชาติ" ที่จัดโดยคณะกรรมธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (แห่งประเทศไทย) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ว่า พ.ร.บ.การลงทุนในโครงการ 2 ล้านล้านบาท มีหลักการที่ดีที่จะพัฒนาระบบขนส่งและเหมือนจะได้ประโยชน์และน่าดำเนินการ แต่มีปัญหาทางวิธีการและการบริหารจัดการ เพราะการลงทุนดังกล่าวขาดรายละเอียดและการศึกษาวิเคราะห์โครงการ และอาจจะขัดรัฐธรรมนูญ ที่น่าคิดคือโครงการมักต้องจ่ายค่าที่ปรึกษาจำนวนไม่น้อยเพื่อจ้างที่ปรึกษาเบื้องต้นซึ่งน่าห่วงว่าอาจจะเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องโดยไม่ได้มีงานที่แท้จริง

"โครงการมีปัญหาเรื่องวิธีการ โดยเฉพาะด้านกฎหมาย ที่ขัดรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 169 ซึ่งโครงการไม่มีรายละเอียดอยู่ดีๆ ก็กู้เงินเลย ทั้งที่ตามหลักการลงทุนน่าจะผ่านการศึกษาของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) โดยกำหนดในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 11 หรือ 12 เลย ที่สำคัญการออกกฎหมายกู้วงเงินอาจจะต้องใช้เวลาชำระหนี้ถึง 50 ปี ปีละ 4.4 หมื่นล้านบาท ถ้าคิดดอกเบี้ย 5% จะมีค่าใช้จ่าย 1.1 แสนล้านบาท เป็นภาระงบประมาณปีละ 1.54 แสนล้านบาท ซึ่งจะกระทบภาระงบประมาณสูงขึ้น แต่พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่มีรายละเอียดของการใช้เงินและแนวทางการใช้คืนว่าจะใช้เงินภาษีอากรหรือภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)หรือไม่ เพราะหลายประเทศทำโครงการสูงต้องมีการเก็บภาษีเพิ่ม แต่ปัจจุบันไทยเราเก็บภาษีได้เพียง 20% ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ต่ำกว่ามาตรฐานที่ต่างประเทศเก็บได้เฉลี่ยที่ 40% รัฐบาลควรบอกให้ชัดเจนว่าหนี้จะเพิ่มเท่าไร" นายพิสิฐกล่าว

นายพิสิฐ กล่าวว่า โครงการลงทุนด้านคมนาคมแม้จะเป็นเรื่องที่ดีก็เป็นเรื่องระยะยาว น่าจะมีการศึกษาให้รอบคอบไม่ต้องรีบร้อน เพราะการพัฒนาอาจจะให้เอกชนเข้ามาลงทุนและรับความเสี่ยงเหมือนการพัฒนาโทรคมนาคมที่ผ่านมาก็ได้ จึงมีการศึกษาให้ดีก่อน

นายไกร ตั้งสง่า อุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การทำโครงการยังความไม่ชัดเจนในหลายด้าน เช่น มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ความคุ้มค่าการลงทุน ต้นทุนที่จะแข่งขันได้ หรือราคาที่ต้องแข่งกับสายการบินต้นทุนต่ำ(โลคอสแอร์ไลน์) ความจำเป็นที่ไทยต้องทำไฮสปีดเทรน เพราะระบบรถไฟรางคู่ก็มีเพียงแต่ขาดการพัฒนาต่อยอดมานาน เพราะสามารถทำทางคู่ที่มีไม่ถึง 200 กม.  แล้วพัฒนารถไฟทางเดี่ยวที่มีอยู่แล้ว 4,000 กม.ก่อน เพราะขนส่งถูกทั้งขนคนและผักได้ แถมโครงการยังมีความไม่ชัดเจนเรื่องการนำเข้าที่ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้า 60% ที่บางเรื่องสามารถใช้วัสดุอุปกรณ์ในประเทศได้ ทำให้ไม่มีแผนในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยได้ด้วย และหลักการขนส่งที่ดีควรอยู่ในชุมชนมากที่สุด แต่ของไทยดูเหมือนจะได้เพียงต้นและปลายทาง เช่น กทม.-เชียงใหม่ กทม.-นครราชสีมา ซึ่งต่างจากของญี่ปุ่น และฮ่องกงที่ขนคนจากใจกลางเมือง เพราะเรื่องเหล่านี้น่าจะบรรจุในทีโออาร์ได้ จากความไม่ชัดเจนเหล่านี้จึงไม่แน่ใจว่าการลงทุนจะข่วยการขยายตัวของจีดีพีได้จริงหรือไม่

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น กล่าวว่า หากพ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มีผลบังคับใช้จริง องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นจะขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบความโปร่งใส ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้ดำเนินการกับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้ออกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมตรวจสอบการประมูล รวมทั้งเรื่องการทำรถไฟฟ้าความเร็วสูง จะเชิญองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นจากต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หากโครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้จะส่งผลต่อหนี้สาธารณะของประเทศอย่างแน่นอน โดยปัจจุบันไทยมีหนี้สาธารณะอยู่ 5.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 46% ของจีดีพี ซึ่งหากต้องมีการกู้วงเงิน 2 ล้านล้านมาเพิ่ม จะส่งผลต่อหนี้สาธารณะประเทศ และอาจส่งผลต่อฐานะทางการคลังของประเทศในอนคต