posttoday

ค่ายรถหนุนเปิดเสรีอียู

03 พฤษภาคม 2553

ค่ายรถยนต์หนุนไทยทำเอฟทีเออียู หลังประเมินไทยมีช่องส่งออกเพิ่ม ส่วนรถเกิน 3,000 ซีซี ยอมรับมีผลกระทบแน่

ค่ายรถยนต์หนุนไทยทำเอฟทีเออียู หลังประเมินไทยมีช่องส่งออกเพิ่ม ส่วนรถเกิน 3,000 ซีซี ยอมรับมีผลกระทบแน่

นายอัครพล ลีลาจินดามัย ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเพื่อรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน เปิดเผยว่า ได้ประชุมภาคเอกชนกลุ่มผู้ผลิตสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็กและผลิตภัณฑ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เกี่ยวกับการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) เพื่อแจ้งท่าทีล่าสุดของทางอียูที่ต้องการให้ไทยเปิดตลาดสินค้ายานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเหล็ก หากไทยไม่เปิดตลาดสินค้าดังกล่าวอียูก็จะไม่ยอมเปิดตลาดสินค้าอื่นที่ไทยต้องการให้ เช่น อาหารและเกษตร

ทั้งนี้ ทางกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และบริษัทผลิตรถยนต์ค่ายต่างๆ เห็นตรงกันว่าการเปิดเสรีกับอียูจะเกิดประโยชน์กับอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการผลิตและส่งออกอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้ารถปิกอัพ (1 ตัน) เครื่องปรับอากาศ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ แต่ในส่วนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลขนาดมากกว่า 3,000 ซีซีนั้น บริษัทผลิตรถยนต์ค่ายยุโรปจะได้ประโยชน์โดยตรง แต่อาจมีผลกระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์ค่ายอื่นๆ ที่ผลิตรถยนต์ซีซีต่ำกว่า

“กลุ่มผู้ผลิตยานยนต์เสนอให้ไทยเจรจาลดภาษีลงแบบขั้นบันได เช่น ภาษีนำเข้ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลในปัจจุบัน 80% ให้ปรับลดลงปีละ 5% จนถึง 60% สุดท้ายจะทำให้มีรถยนต์นำเข้าจากยุโรปถูกลงอย่างมาก และยังได้เสนอให้ไทยเจรจาเพื่อให้เกิดกลไกความร่วมมือแลกเปลี่ยนความรู้ และช่วยเหลือด้านเทคนิคและเทคโนโลยีการผลิตที่จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถให้กับอุตสาหกรรมของไทย” นายอัครพล กล่าว

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ แม้จะเห็นด้วยกับการเปิดการค้าเสรี เนื่องจากมีโอกาสในการขยายตลาด แต่ยอมรับว่ามีความกังวลเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าต่างๆ ที่อียูกำหนด เพราะอียูมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสูงและมีการพัฒนามาตรฐานสินค้าอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เป็นที่สังเกตว่ากลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ไม่มีความกังวลกับประเด็นดังกล่าว เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นบริษัทรถยนต์ที่ลงทุนข้ามชาติ ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีกันอยู่แล้ว

ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กเห็นด้วยกับการทำเอฟทีเอ เพราะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เหล็ก แต่มีความกังวลว่าไทยยังขาดความพร้อมในอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ ซึ่งระยะยาวอาจส่งผลกระทบด้านการแข่งขัน โดยได้เสนอให้ภาครัฐช่วยเหลือด้วยการยกเว้นภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) สินค้าเหล็กที่นำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออก