posttoday

ไทยถึงเวลาพัฒนา4จี

21 พฤศจิกายน 2556

เปิดวิสัยทัศน์ "จอน เฟรดริค บัคซอส" หัวเรือใหญ่ของเทเลนอร์ กรุ๊ป ที่ระบุว่าถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องพัฒนาเครือข่าย4จี

เปิดวิสัยทัศน์ "จอน เฟรดริค บัคซอส" หัวเรือใหญ่ของเทเลนอร์ กรุ๊ป ที่ระบุว่าถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องพัฒนาเครือข่าย4จี

ภายหลังจากการประมูลคลื่นความถี่ 3จี 2100 เมกะเฮิรตซ์ และเริ่มเปิดให้บริการ 3จี เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุค 3จี แบบเต็มตัวแล้ว แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่บอกให้รู้ว่าประเทศไทยกำลังเข้าใกล้ 4จี แล้วด้วยเช่นกัน คำถามที่ว่าไทยมีความต้องการใช้งานบริการ 4จี แล้วหรือไม่ จอน เฟรดริค บัคซอส ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทเลนอร์ กรุ๊ป รวมถึงประธานสมาคมจีเอสเอ็มเอ ยืนยันว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องเริ่มต้นลงทุนเพื่อให้บริการ 4จี แล้ว

จากมุมมองของผู้บริหารใหญ่แห่งเทเลนอร์ ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจของยุโรปยังอยู่ระหว่างรอการฟื้นตัวจากวิกฤตทางการเงิน ขณะที่อเมริกาแม้เศรษฐกิจจะดีขึ้นแล้ว แต่ก็ยังไม่ดีเท่าไรนัก เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจในเอเชียที่เชื่อว่าจะเป็นภูมิภาคที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก รวมถึงอุตสาหกรรมโทรคมนาคม แต่กระนั้นในอเมริกาและหลายประเทศในยุโรป เช่น นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ ได้มีบริการ 4จี ไปแล้ว อังกฤษและเยอรมนีก็กำลังเริ่มอยู่เช่นเดียวกัน

ขณะที่ในเอเชียนั้น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี คือประเทศหลักที่ขับเคลื่อนการลงทุนและให้บริการ 4จี ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปก่อน ซึ่งทั้งหมดได้สะท้อนให้เห็นถึงการจัดสรรคลื่นความถี่ และการนำไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งเทเลนอร์เองตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นผู้ให้บริการที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาบริการโทรคมนาคมให้เกิดขึ้นในเอเชีย

“รายได้มากกว่า 50% ของเทเลนอร์ กรุ๊ป มาจากภูมิภาคเอเชีย และเทเลนอร์ยังคงลงทุนอย่างต่อเนื่องผ่านผู้ให้บริการใน 6 ประเทศในเอเชีย คือ ไทย มาเลเซีย ปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ และล่าสุดเทเลนอร์ได้ใบอนุญาตในพม่า โดยเตรียมให้บริการ 3จี ประชากร 60 ล้านคนในปีหน้า”บัคซอส กล่าว

ทั้งนี้ ตลาดอาเซียนถือว่าเป็นส่วนสำคัญของเทเลนอร์ โดยมีธุรกิจในไทย มาเลเซีย และพม่า และพร้อมจะลงทุนให้บริการในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ทันทีหากมีโอกาส ด้วยประชากร 500-600 ล้านคนในอาเซียน ถือว่าเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโต และสามารถแข่งขันเพื่อจัดให้มีบริการที่มีคุณภาพได้ ซึ่งในปีหน้าทุกประเทศที่เทเลนอร์มีส่วนในการให้บริการ จะเป็นบริการ 3จี โดยสมบูรณ์ ผู้ให้บริการทุกรายจะได้รับการสนับสนุนจากเทเลนอร์ในทุกด้าน รวมถึงด้านเงินทุน

สำหรับประเทศไทย เป็นประเทศใหญ่ที่ต้องลงทุนโครงข่ายให้ครอบคลุม เพื่อให้สามารถให้บริการได้ทั่วถึง ซึ่งได้จัดสรรงบลงทุนให้ดีแทคกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท ในช่วง 3 ปีนี้ สำหรับสร้างระบบโครงข่ายไตรเน็ต และเห็นได้ชัดว่าการใช้งานอินเทอร์เน็ตในไทยสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และ 3จี กำลังจะไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยเฉพาะใน กทม. และเมืองใหญ่

ดังนั้น จุดหลักจึงอยู่ที่หน่วยงานกำกับดูแล คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ต้องจัดสรรคลื่นความถี่ให้ดี เพื่อให้เกิดการลงทุน การแข่งขันที่เป็นธรรม และบริการที่มีคุณภาพ

ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองนั้น เชื่อว่าเป็นเพียงเหตุการณ์ระยะสั้นที่เกิดขึ้น แต่การให้บริการโทรคมนาคมเป็นเรื่องระยะยาว จึงมองว่าน่าจะมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ก็ควรหาทางออกให้เร็วที่สุด เพราะในปีหน้ามีการคาดการณ์ว่าจีดีพีจะไม่ดีนัก ปัจจัยอื่นๆ จึงควรจะช่วยส่งเสริมมากกว่าชะลอการเติบโตของอุตสาหกรรม

ประธานเทเลนอร์ยังส่องภาพการขยายธุรกิจในภูมิภาคเอเชียปีหน้าว่า ประเทศไทยที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูง ต้องมีการขยายโครงข่ายเพื่อรองรับเพิ่ม พม่าต้องเร่งสร้างระบบโครงข่ายใหม่ตั้งแต่ต้นปี เพื่อให้พร้อมเปิดให้บริการในไตรมาส 3 ส่วนอินเดียที่มีจำนวนผู้ใช้สูงที่สุดก็ต้องเร่งขยายโครงข่าย และเตรียมก้าวเข้าสู่บริการ 3จี ให้เร็วที่สุด รวมถึงบังกลาเทศที่เริ่มต้นบริการ 3จี ไปแล้ว ก็ต้องสร้างเสถียรภาพให้ดียิ่งขึ้น

ด้าน จอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค กล่าวว่า เป้าหมายของดีแทคคือการเติบโตของรายได้ 5-7% ต่อเนื่อง สิ่งสำคัญคือการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้โครงข่ายครอบคลุมมากที่สุด รวมถึงการเตรียมลงทุนโครงข่าย 4จี ซึ่งถึงเดือน ธ.ค.นี้ จะมีสมาร์ทโฟนที่รองรับบริการ 4จี ในระบบดีแทคถึง 1 ล้านเครื่อง แต่ยอมรับว่าราคายังสูงอยู่มาก

“การจะให้คนเข้าถึง 4จี ได้ ต้องมีทั้งโครงข่ายและเครื่องมือถือ ซึ่ง 3จี ไตรเน็ตโฟน รุ่นแรกมียอดขายกว่า 7 หมื่นเครื่อง และรุ่นที่ 2 ที่เพิ่งนำเข้ามา 1.4 แสนเครื่อง แต่มีเป้าอยู่ที่ 2 แสนเครื่อง ซึ่งไตรเน็ตโฟนมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้กับคนไทย และอาจรวมถึง 4จี ในอนาคต”จอน กล่าว