posttoday

โบอิ้งมองธุรกิจการบินอาเซียนรุ่งสุด

22 ตุลาคม 2556

โบอิ้งคาดการณ์ 20 ปีข้างหน้า จำนวนผู้โดยสารทางอากาศแตะ 6,500 ล้านคน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครองแชมป์ซื้อเครื่องใหม่สูงสุด

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

แรนดี ทินเซ็ธ รองประธานฝ่ายการตลาด โบอิ้ง คอมเมอร์เชียล แอร์เพลน ได้เดินทางมาไทยพร้อมกับสรุปแนวโน้มตลาดเครื่องบินใน 20 ปีข้างหน้าว่า เศรษฐกิจโลก 20 ปีข้างหน้า น่าจะเติบโตเฉลี่ย 3.2% ต่อปี จึงคาดว่า จำนวนผู้โดยสารเครื่องบิน น่าจะเติบโตได้ 4.1% ต่อปี หรือมีผู้โดยสารทางอากาศทั้งหมด 6,500 ล้านคน ในปี 2575 เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าจะมีผู้โดยสารทางอากาศ 3,000 ล้านคน ขณะที่รายได้จากผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าทางเครื่องบิน เติบโต 5% ต่อปี 

สำหรับทิศทางความต้องการของสายการบิน จะหันมาเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินไปสู่ปลายทางมากขึ้น แทนการซื้อเครื่องขนาดใหญ่มารองรับคนจำนวนมากในเที่ยวบินเดียว รวมทั้งเน้นเพิ่มจุดหมายปลายทางบินใหม่ๆ รองรับความต้องการผู้โดยสาร ที่ต้องการให้มีเที่ยวบินถี่ขึ้น และนิยมการบินแบบไม่หยุดพักระหว่างทาง (นอนสต็อป) ด้วยเหตุนี้ทำให้โบอิ้ง เน้นพัฒนาเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการนี้ คือ โบอิ้ง 787 ซึ่งมีคุณสมบัติบินได้นานขึ้น และประหยัดเชื้อเพลิง

ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงนี้ไปถึง 20 ปีข้างหน้า สายการบินทั่วโลกจะมีความต้องการเครื่องบินลำใหม่ทั้งหมด 3.5 หมื่นลำ มูลค่ารวม 4.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 150 ล้านล้านบาท ส่งผลให้จำนวนฝูงบิน 20 ปีข้างหน้า จะเพิ่ม 2 เท่าจากปัจจุบัน เครื่องบินที่มีความต้องการสูงสุด คือ เครื่องบินทางเดินเดียว 2.4 หมื่นลำ คิดเป็น 70% รองลงมาคือ เครื่องบินเล็กแบบ 2 ทางเดิน ต่ำกว่า 300 ที่นั่ง 4,530 ลำ 13% เครื่องบินกลางแบบ 2 ทางเดิน 300-400 ที่นั่ง 3,300 ลำ 9% เครื่องบินในภูมิภาค 2,020 ลำ 6% และเครื่องบินขนาดใหญ่แบบ 2 ทางเดิน 760 ลำ 2%

"60% ของความต้องการเครื่องบินในตลาดมาจากความต้องการเครื่องบินลำใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั่นเอง จีน ละตินอเมริกา และตะวันออกกลาง เป็นผลจากเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เติบโตสูง การท่องเที่ยวคึกคัก ชนชั้นกลางเพิ่ม ทำให้สายการบินในภูมิภาคนี้สั่งซื้อเครื่องบินเพิ่มต่อเนื่อง โดยเฉพาะเครื่องบินทางเดินเดียว ที่กลุ่มสายการบินต้นทุนต่ำ(โลว์คอสต์แอร์ไลน์) นิยมใช้ ส่วนอีก 40% เป็นความต้องการเปลี่ยนเครื่องบินจากในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และรัสเซีย" ทินเซ็ธ กล่าว

ขณะที่โบอิ้ง ได้เตรียมผลิตภัณฑ์ใหม่รองรับความต้องการทุกประเภท ยกเว้นเครื่องบินในภูมิภาค ที่จะไม่ลงไปเล่นในตลาดนี้ เพราะมีผู้ประกอบการแข่งขันสูงอยู่แล้ว อีกทั้งผู้ประกอบการเหล่านี้เองก็เตรียมผลักดันตัวเองขึ้นมาแข่งในตลาดเครื่องบินขนาดใหญ่ขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ที่โบอิ้งเตรียมไว้ ได้แก่ โบอิ้ง 737 แม็กซ์ 7 , โบอิ้ง 737 แม็กซ์ 8, โบอิ้ง 737 แม็กซ์ 9,  โบอิ้ง 787-8, โบอิ้ง 787-9, โบอิ้ง 787-10, โบอิ้ง 777-8เอ็กซ์, โบอิ้ง 777-9เอ็กซ์ และโบอิ้ง 747-8

ทินเซ็ธ กล่าวอีกว่า ภาพรวมสัดส่วนเครื่องบินของโลว์คอสต์แอร์ไลน์ และเที่ยวบินเช่าเหมาลำ(ชาร์เตอร์ไฟล์ท) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีส่วนแบ่งในตลาดเลย แต่ปีที่แล้วมีส่วนแบ่งถึง 22% และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 42% ใน 20 ปีข้างหน้า ดังนั้นเชื่อว่าความต้องการนักบินที่สามารถขับเครื่องบินที่โลว์คอสต์แอร์ไลน์ใช้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องบิน โบอิ้ง 737 และ แอร์บัสเอ 320 จะต้องเพิ่มมากแน่นอน

จากสัญญาณที่โบอิ้งระบุมานี้ ผู้บริโภคน่าจะเป็นกลุ่มที่ดีใจได้มากที่สุด เพราะในอีก 20 ปีข้างหน้า ราคาตั๋วเครื่องบินก็คงจะมีแนวโน้มถูกลงต่อเนื่องแน่นอน ในเมื่อสายการบินส่วนใหญ่ที่ตั้งใจขยายตัวก็คือโลว์คอสต์แอร์ไลน์นั่นเอง