posttoday

ความเชื่อมั่นSMEลด-ค้าปลีกหดมากสุด

04 ตุลาคม 2556

ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเดือนส.ค.ลดลง ค้าปลีก-ก่อสร้างลดมากสุด จากบริโภคชะลอและฤดูฝน

ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเดือนส.ค.ลดลง ค้าปลีก-ก่อสร้างลดมากสุด จากบริโภคชะลอและฤดูฝน

นายชาวันย์ สวัสดิ์ชู-โต รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ภาคการค้าและบริการ ประจำเดือนสิงหาคม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2556 พบว่า ดัชนีลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 42.7 จากระดับ 43.3 โดยภาคค้าส่ง ภาคค้าปลีก ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 43.8 และ 42.0 จากระดับ 46.4 และ 44.6 ส่วนภาคบริการค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 43.2 จากระดับ 40.6 ในส่วนความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตน ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 19.5 และ 35.7 จากระดับ 36.2 และ 36.6 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาแต่ละประเภทกิจการ พบว่า ภาคค้าส่ง กิจการค้าส่งวัสดุก่อสร้าง ค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 41.4 จากระดับ 46.0 ผลจากเข้าสู่ช่วงฤดูฝนสถานการณ์ด้านบริการก่อสร้างชะลอตัวลงเป็นปกติ ขณะที่การลงทุนในภาพรวมของประเทศชะลอตัวลงเช่นกัน ภาคค้าปลีก กิจการร้านค้าปลีกดั้งเดิม และร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ค่าดัชนีลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 41.4 และ 44.1 จากระดับ 44.1 และ 46.7 ผลจากสถานการณ์การบริโภคในภาพรวมชะลอตัวลง และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสาธารณูปโภคต่างๆ  ภาคบริการ กิจการบริการด้านการก่อสร้าง ค่าดัชนีลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 38.1 จากระดับ 47.9 ผลจากเข้าสู่ช่วงฤดูฝนสถานการณ์ด้านบริการก่อสร้างชะลอตัวลงเป็นปกติ

ส่วนผลการสำรวจดัชนีรายภูมิภาคในเดือนสิงหาคม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2556 พบว่า ส่วนใหญ่มีค่าดัชนีเพิ่มขึ้น โดยภูมิภาคที่มีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ ภาคใต้ ค่าดัชนีอยู่ที่ 41.2 จากระดับ 38.2 รองลงมาคือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก ค่าดัชนีอยู่ที่ 43.8 จากระดับ 43.2  และ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่าดัชนีอยู่ที่ 39.8 จากระดับ 39.7 ส่วนภูมิภาคที่มีค่าดัชนีลดลง ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ 43.9 จาก 47.2 และภาคเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ 46.3 จากระดับ 48.6 

สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการ พบว่า ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 52.8 จากระดับ 46.2 และเป็นการเพิ่มขึ้นทุกประเภทกิจการ โดยกิจการภาคค้าส่ง ภาคค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 51.2  52.0 และ 54.3 จากระดับ 48.4  44.8 และ 46.9 เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตน ที่ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 52.2 และ 59.2 จากระดับ 25.0 และ 40.6

“ผลจากการสำรวจ พบว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในช่วง 3 เดือนข้างหน้า เพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับที่ดี โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนมาจากสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวยังมีความคึกคักต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งเดือนสิงหาคม มีจำนวนทั้งสิ้น 2.47 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ระดับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลง ค่าเงินบาท ณ สิ้นเดือนสิงหาคม อ่อนค่าอยู่ที่ระดับ 31.60 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 3.92 หรือมีมูลค่าการส่งออก 20,467.91 ล้านบาท นอกจากนี้ผู้ประกอบการเชื่อมั่นว่าในช่วงดังกล่าวจะมีเม็ดเงินจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐเข้าสู่ระบบ และเป็นช่วงที่เข้าสู่เทศกาลสำคัญ ทั้งเทศกาลกินเจ ลอยกระทง ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์ท่องเที่ยว และการบริโภคภายในประเทศจะกลับมาคึกคักมากยิ่งขึ้น” นายชาวันย์ กล่าว