posttoday

นำเข้าจักรยานคึกรับสองล้อฟีเวอร์

01 ตุลาคม 2556

กระแสจักรยานฟีเวอร์ในประเทศไทยที่กำลังมา ผลักดันธุรกิจนำเข้าจักรยานคึกคัก

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

ในช่วงเวลาที่รัฐบาลมีนโยบายรถคันแรกออกมา คนแห่ไปซื้อรถมาขับมากกันจนล้นถนน ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่กลุ่มนักปั่นจักรยานเริ่มเติบโตขึ้น เพราะเบื่อรถติด เหนื่อยกับการขึ้นรถสาธารณะ หันมาเลือกปั่นจักรยานเดินทางควบคู่กับการออกกำลังกายน่าจะเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์การมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ครบสูตร

ล่าสุด บุษยา ประกอบทอง รองผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอ็น.ซี.ซี.เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ (นีโอ) ที่เห็นกระแสจักรยานบูมไม่หยุดหย่อน จึงขอปั่นกระแสให้โตต่อ ด้วยการจัดงานมหกรรมจักรยานของผู้ที่มีใจรักการปั่น หรือ บางกอก ไบค์ ครั้งที่ 2 วันที่ 17-20 ต.ค. นี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี หลังจัดครั้งแรกไปเมื่อเดือน พ.ค. แล้วประสบความสำเร็จมาก โดยเป้าหมายงานครั้งนี้ คือ เปิดตัวจักรยานรุ่นใหม่ๆ เอาใจขาปั่น คาดว่า จะมีผู้ร่วมงานไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน เงินสะพัด 120 ล้านบาท เพิ่ม 20% จากการจัดงานครั้งแรก

ในงานนี้จะมีทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่ายจักรยาน รวมถึงอุปกรณ์เสริมจักรยานเข้าร่วมงานจำนวนมาก ซึ่งผู้ร่วมงานบางส่วนก็ได้มาเปิดใจให้ฟังถึงกระแสการเติบโตของตลาดจักรยาน

เช่น จันทนา ติยะวัชรพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท แอลเอ ไบซิเคิ้ล (ประเทศไทย) ที่ชี้ว่า ตลาดจักรยานทั่วไปไม่ได้เติบโตมาก จักรยานระดับกลางถึงกลางบน ยอดขายลดลง 10-15% ส่วนหนึ่งก็คงเพราะเศรษฐกิจไม่ดี แต่อีกส่วนสำคัญ คือ คนที่ปั่นจักรยานนิยมซื้อจักรยานนำเข้ามากขึ้น ซึ่งปีนี้ตลาดจักรยานนำเข้าน่าจะโต 20-30% แอลเอก็เข้าไปในตลาดนี้มา 2 ปีแล้ว นำเข้าทั้งหมด 42 แบรนด์ เพื่อรองรับกระแสนี้ก็เห็นการเติบโตของสินค้านำเข้าชัดเจน ส่วนพฤติกรรมการซื้อจักรยานเปลี่ยนไป คนศึกษาข้อมูลก่อนซื้อมากขึ้น ให้ความสำคัญกับแบรนด์สินค้า ยิ่งเป็นกลุ่มที่รวมตัวปั่นจักรยานเป็นกลุ่มก้อน ยิ่งให้ความสำคัญกับแบรนด์มาก ต้องเป็นแบรนด์ดัง โดยไม่เกี่ยงราคาว่าจะแพงแค่ไหน

ขณะที่ ชัชนันท์ ง้าวสุพรรณวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไพโอเนียร์ ไซเคิล เทรดดิ้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกลบอลไบค์ ยอมรับว่า เพราะกระแสการปั่นจักรยานในเมืองไทยที่เติบโต ทำให้ตัดสินใจตั้งบริษัทใหม่ โกลบอลไบค์ นำเข้าจักรยานแบรนด์ โกโกไบค์ ซึ่งเป็นแบรนด์จีนคุณภาพส่งออกญี่ปุ่น สหรัฐ อเมริกา และยุโรป โดยเริ่มมา 2 เดือนแล้ว ก็มียอดกระแสตอบรับดีมาก เพราะแบรนด์นี้มีข้อได้เปรียบคือ มีจักรยานหลายประเภท เน้นเหมาะกับคนในเมืองใหญ่ ราคามีตั้งแต่ 5,200-1.5 แสนบาท รุ่นที่มาเน้นนำเสนอในงานบางกอก ไบค์ คือ จักรยานล้อ 12 นิ้ว พับได้ น้ำหนัก 12 กก. เจาะกลุ่มคนที่นิยมปั่นจักรยานแล้ว ต้องการพับนำขึ้นรถไฟฟ้าต่อ กับกลุ่มครอบครัวที่ต้องการพกพาจักรยานไปต่างจังหวัด

นำเข้าจักรยานคึกรับสองล้อฟีเวอร์

ทางด้าน จันทร์นภา สายสมร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทคโนเซล(เฟรย์) ผู้นำเข้าและจำหน่ายอุปกรณ์บรรทุกสัมภาระ ธูเล่ จากสวีเดน กล่าวว่า ตลาดจักรยานที่โตสูง ทำให้ตลาดอุปกรณ์เสริมจักรยานโตตามด้วย ในส่วนของทูเล่ย์ เดิมกลุ่มสินค้าที่นิยมสูง คือ อุปกรณ์บรรทุกสัมภาระสำหรับจักรยาน เคยมีสัดส่วนยอดขายถึง 60% ลดเหลือ 40% เพราะปัจจุบันกลุ่มอุปกรณ์ยึดจับจักรยานทั้งกับหลังคารถและยึดติดกับอุปกรณ์จูงลากเติบโตสูงกว่า เป็นผลจากกลุ่มคนปั่นจักรยานในไทย หันมาใช้จักรยานคุณภาพสูงที่ต้องการอุปกรณ์ยึดจับคุณภาพสูงมากขึ้น ทำให้สัดส่วนยอดขายมาจากสินค้ากลุ่มนี้ เพิ่มจาก 40% เป็น 60%

ส่วนตลาดอุปกรณ์เสริมจักรยานจะเติบโตอีกแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการเติบโตตลาดจักรยานในไทย หากรัฐบาลส่งเสริมให้คนใช้จักรยานต่อเนื่อง ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นกระแสชั่วเวลาหนึ่งก็จบไป ตลาดนี้ก็ยังโตได้อีกนาน

นับเป็นกระแสที่สร้างโอกาสให้ธุรกิจไม่น้อยเลยทีเดียว ใครที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับจักรยานเวลานี้ จะเรียกว่าเป็นยุคทองของการโกยรายได้ ก็คงจะได้ แต่ยุคทองจะยาวนานแค่ไหน ก็คงต้องรอลุ้นกระแสจักรยานฟีเวอร์ผ่านมาแล้วจะผ่านไปรวดเร็วหรือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจะช่วยกันจุดกระแสนี้ให้ติดไปอีกนาน