posttoday

เตรียมแผนรับแรงงานขาดแคลน

30 สิงหาคม 2556

นาโอจิ ชิบาตะ ผู้สื่อข่าวชาวญี่ปุ่นประจำประเทศไทยในสังกัดหนังสือพิมพ์ อาซาฮี ชิมบุน เขียนรายงานข่าวกึ่งสารคดี

นาโอจิ ชิบาตะ ผู้สื่อข่าวชาวญี่ปุ่นประจำประเทศไทยในสังกัดหนังสือพิมพ์ อาซาฮี ชิมบุน เขียนรายงานข่าวกึ่งสารคดี ระบุว่า ขณะที่เศรษฐกิจของพม่า กัมพูชา และลาว ประเทศเพื่อนบ้านแวดล้อมกำลังพัฒนาดีวันดีคืนขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยกลับเดินหน้าเข้าสู่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่จะส่งผลสั่นคลอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ รายงานระบุว่า นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา โอกาสทางการศึกษาที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้กำลังแรงงานไทยส่วนใหญ่ขยับโยกสถานะดีขึ้น ส่งผลให้แรงงานในภาคก่อสร้าง อุตสาหกรรมประมง เกษตร ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารและอุปกรณ์เครื่องจักรใหญ่ส่วนใหญ่กว่า 80% กลายเป็นแรงงานต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน

ดังนั้น ไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมตัวเตรียมใจพร้อมรับกรณีที่แรงงานต่างชาติเหล่านี้เดินทางกลับบ้านเกิด โดยข้อมูลการสำรวจของหอการค้าญี่ปุ่นประจำประเทศไทย พบว่า จำนวนสมาชิกซึ่งเป็นบริษัทเอกชนญี่ปุ่นที่บอกว่าประเด็นขาดแคลนแรงงานเริ่มเป็นปัจจัยท้าทายสำคัญของการดำเนินงานขององค์กรปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา

นอกจากนี้ จำนวนข้างต้นสอดคล้องกับจำนวนบริษัทญี่ปุ่นที่เริ่มขยับขยายสร้างโรงงานผลิตในกัมพูชาและลาวมากขึ้น โดยให้เหตุผลว่าประเทศเหล่านั้นสามารถหาแรงงานทำงานได้ง่ายกว่าไทย

เซ็ทสึโอะ อิอูชิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กล่าวว่า ย้อนไปเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ไทยถือเป็นเป้าหมายการลงทุนในอันดับต้นๆ ของภาคเอกชนญี่ปุ่นที่ยึดนโยบายบวกหนึ่งเพื่อกระจายความเสี่ยง ซึ่งหมายถึงการขยับขยายแตกสาขาของบริษัทไปยังประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากประเทศแม่ และขณะนี้บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นในไทยกำลังใช้นโยบายดังกล่าวอีกครั้ง โดยยึดไทยเป็นฐานและแตกสาขาของโรงงานไปยังประเทศเพื่อนบ้านไทย

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ยังมีขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายแรงงานต่างด้าวในไทยที่ต้องการปรับปรุงสถานะแรงงานต่างด้าวให้มีการรับรองทางกฎหมายมากขึ้น และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของแรงงาน แต่ทว่าประเด็นเหล่านี้ไม่ได้ทำให้บรรดาเจ้าของกิจการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติวิตกกังวลได้มากเท่ากับความคิดที่ว่าแรงงานต่างด้าวในไทยจะเดินทางกลับบ้านเกิดของตนเอง

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวจากอาซาฮี ชิมบุน ระบุว่า แม้การให้สถานะรับรองสิทธิทางกฎหมายแก่แรงงานต่างด้าวจะช่วยยื้อเวลาให้แรงงานต่างด้าวอยู่ในไทยได้นานขึ้น แต่ท้ายสุดเมื่อสถานการณ์ในบ้านดีขึ้น บวกกับมีการลงทุนจากต่างชาติเข้าไปในประเทศบ้านเกิด แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่ย่อมเลือกกลับไปทำงานในบ้านของตนเอง

ยังไม่นับรวมถึงปัจจัยที่ไทยและเพื่อนบ้านจะเปิดประตูเชื่อมกันให้แนบแน่นภายใต้แผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ที่ทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายไปมาสะดวกยิ่งขึ้น

ดังนั้น หากไทยไม่เร่งวางแผนเตรียมตัวเตรียมใจและเตรียมพร้อมรับสถานการณ์แรงงานภายในประเทศของตนเอง ไทยอาจเผชิญวิกฤตหนักหนาแน่นอน