posttoday

เฟซบุ๊กเผยรัฐบาลไทยเคยขอข้อมูลผู้ใช้5ราย

28 สิงหาคม 2556

เฟซบุ๊กเผยรัฐบาลไทยเคยยื่นคำขอข้อมูล2ครั้งต่อผู้ใช้5รายแต่ไม่เคยมีการเปิดเผยข้อมูล

เฟซบุ๊กเผยรัฐบาลไทยเคยยื่นคำขอข้อมูล2ครั้งต่อผู้ใช้5รายแต่ไม่เคยมีการเปิดเผยข้อมูล

เว็บไซต์เฟซบุ๊ก เผยแพร่รายงานความโปร่งใสเป็นครั้งแรก ซึ่งครอบคลุมระยะเวลา 6 เดือนแรก ของปี 2013 จนถึง 30 มิ.ย. โดยพบว่า มีการร้องขอข้อมูลผู้ใช้จำนวน 37,954 - 38,954 ราย จากรัฐบาล 71 ประเทศทั่วโลก โดยสาเหตุที่ไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขที่แน่นอนได้ เพราะเฟซบุ๊กไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผยจำนวนครั้งที่ขอและจำนวนบัญชีผู้ใช้ (แอคเคาท์) ที่ให้ตามการร้องขอจากรัฐบาลสหรัฐ

คอลิน สเตรทช์ หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของเฟซบุ๊ก อธิบายว่า บริษัทได้รายงานตัวเลขของการร้องขอที่เกี่ยวกับอาชญากรรมและความมั่นคงของชาติมากที่สุดเท่าที่กฎหมายจะอนุญาตให้เปิดเผยได้ พร้อมระบุด้วยว่า บริษัทจะพยายามผลักดันให้รัฐบาลสหรัฐ อนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลเพื่อความโปร่งใสมากขึ้น โดยจะรวมถึงจำนวนครั้งที่เฉพาะเจาะจงและประเภทของคำขอที่เกี่ยวกับความมั่นคงภายในด้วย

ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊ก เคยเปิดเผยข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับการร้องขอข้อมูลจากรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับโครงการ PRISM ซึ่งเป็นการสอดส่องประชาชนของสภาความมั่นคงของสหรัฐ โดยเก็บข้อมูลจากบริษัทอินเทอร์เน็ตต่าง ๆ อย่าง กูเกิล เฟซบุ๊ก ไมโครซอฟท์ และแอปเปิล โดยนี่เป็นครั้งแรกที่เฟซบุ๊กเปิดเผยรายงานฉบับเต็ม

ทั้งนี้ มีรายงานว่า บริษัทไอทีเหล่านี้ต่างก็ขอให้รัฐบาลสหรัฐ  อนุญาตให้เปิดเผยตัวเลขที่แท้จริงของคำร้องขอที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติที่พวกเขาได้รับ จากรายงานดังกล่าว สหรัฐ มีการร้องขอข้อมูลผู้ใช้มากที่สุด คือ คำขอราว 11,000-12,000 ครั้ง ต่อผู้ใช้ราว 20,000-21,000 ราย ตามด้วย อินเดีย มีการร้องขอ 3,245 ครั้ง ต่อผู้ใช้ 4,144 ราย และสหราชอาณาจักร มีคำขอ 1,975 ครั้ง ต่อผู้ใช้ 2,337 ราย โดย เฟซบุ๊ก ให้ข้อมูลตามคำขอของสหรัฐ คิดเป็น 79% อินเดีย 50% และสหราชอาณาจักร 68%  สำหรับ ไทย นั้น เฟซบุ๊ก ระบุว่า มีคำขอ 2 ครั้ง ต่อผู้ใช้ 5 ราย โดย เฟซบุ๊ก ไม่เคยเปิดเผยข้อมูลต่อรัฐบาลไทย