posttoday

หอการค้าไทยชี้บาทอ่อนช่วยส่งออกแค่เล็กน้อย

24 สิงหาคม 2556

นักเศรษฐศาสตร์ มองค่าเงินบาทอ่อนช่วยภาคส่งออกเล็กน้อย ยอดคำสั่งซื้อยังไม่กลับ คาดทั้งปีส่งออกขยายตัว 4-6%

นักเศรษฐศาสตร์ มองค่าเงินบาทอ่อนช่วยภาคส่งออกเล็กน้อย ยอดคำสั่งซื้อยังไม่กลับ คาดทั้งปีส่งออกขยายตัว 4-6%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวในการเสวนา “ถอดรหัส AEC” ของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในสัปดาห์นี้ เป็นผลมาจากนักลงทุนต่างชาติโยกเงินลงทุนกลับไปยังตลาดเงินในสหรัฐที่เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น และรอความชัดเจนจากการทยอยถอนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ของธนาคารกลางสหรัฐ ส่งผลให้เงินบาทในภูมิภาคอ่อนค่าลง แต่เป็นผลดีต่อการส่งออก ทำให้สินค้าไทยมีความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และสินค้าเกษตรที่จะมีรายได้ในรูปเงินบาทมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณชัดเจนของยอดคำสั่งซื้อที่จะกลับมาในช่วงปลายปีนี้ จึงมองว่า ตัวเลขการส่งออกปีนี้จะขยายตัว 4-6%

ทั้งนี้ เห็นว่า รัฐบาลควรเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเร็วขึ้นช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ หรือไตรมาส 4 ของปีนี้ ผ่านโครงการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่า ในช่วงปลายไตรมาส 3 ปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวและจะชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ตามที่รัฐบาลคาดการณ์ จากเม็ดเงินในภาคท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยจะมีนักท่องเที่ยวกว่า 2-2.5 ล้านคน และการลงทุนจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 2 ล้านล้านบาท ที่ลงทุนแบบแยกโครงการ ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวถึง 4-4.5%

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าสถานการณ์ทางการเมือง หากมีความร้อนแรง และไม่สามารถแก้ไขปัญหาการปฏิรูปการเมืองได้อย่างแท้จริง โดยมีความรุนแรงถึงขั้นออกประกาศ พ.ร.บความมั่นคงในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว จะทำให้เศรษฐกิจในปีนี้ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยผลกระทบด้านการเมืองจะมีผลต่อเศรษฐกิจ 0.2-0.5%

ด้านนายอัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า แม้เงินบาทอ่อนค่าลง แต่ไม่มีผลต่อการส่งออกมากนัก เนื่องจากเป็นการอ่อนค่าลงของค่าเงินทั้งภูมิภาค และมองว่า แนวโน้มเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีนี้ จะอยู่ในกรอบ 31-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากช่วงต้นปีอยู่ที่ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เพราะยังมีปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะมาตรการคิวอีกดดันการลงทุน ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน

ส่วนการส่งออกปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 3-5% เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่นัก ขณะที่จีนยังคงมีความเสี่ยงจากการเกิดภาวะฟองสบู่ ดังนั้น ไทยจึงควรใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ อาเซียน-ไทย ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกของไทยไปตลาดอาเซียน สูงถึง 25% ส่วนการค้าชายแดนเริ่มมีมูลค่ามากขึ้น แม้จำนวนด่านการค้าจะยังมีไม่มาก ซึ่งภาครัฐต้องเร่งอำนวยความสะดวก ลดอุปสรรคด้านกฎระเบียบต่างๆ เพื่อช่วยผลักดันการค้าชายแดนให้ขยายตัวในระยะยาว