posttoday

จับตาสังคมไทยอีก 10 ปี ความท้าทายนักการตลาด

23 สิงหาคม 2556

การทำตลาดบนโลกแห่งอนาคต นักการตลาดต้องผจญกับความท้าทายหลากหลายด้าน โดยเฉพาะการก้าวสู่โลกดิจิตอล การเกิดทีวีดิจิตอลของไทย ความหลากหลายเจเนอเรชันผู้บริโภค และการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยอีก 10 ปีข้างหน้า ประชากรรากหญ้าจะก้าวมาสู่ชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น

การทำตลาดบนโลกแห่งอนาคต นักการตลาดต้องผจญกับความท้าทายหลากหลายด้าน โดยเฉพาะการก้าวสู่โลกดิจิตอล การเกิดทีวีดิจิตอลของไทย ความหลากหลายเจเนอเรชันผู้บริโภค และการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยอีก 10 ปีข้างหน้า ประชากรรากหญ้าจะก้าวมาสู่ชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้นักการตลาดต้องปรับตัวและมองหาอาวุธการตลาดใหม่เพื่อตั้งรับกับเทรนด์ที่เกิดขึ้น

วรรณิภา ภักดีบุตร รองประธานกรรมการบริหารด้านการตลาดผลิตภัณฑ์ความงาม บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค เปิดเผยว่า แนวโน้มที่เกิดขึ้นในไทยอีก 10 ปีข้างหน้านี้ ประชากรรากหญ้าจะมีรายได้มากขึ้น ส่งผลให้ชนชั้นกลางจะกลายเป็นฐานประชากรใหญ่ในสัดส่วน 8090% อีกทั้งประเทศไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุ หรือ 60 ปีขึ้นไป 1 ใน 4 ของประเทศ และจะเกิดครอบครัวเดี่ยวเพิ่มมากขึ้น นักการตลาดต้องเผชิญกับความท้าทายผู้บริโภคที่มีความหลากหลายเจเนอเรชัน ทั้งเจนเอกซ์ เจนวาย หรือกระทั่งเบบี้บูมเมอร์

สำหรับกลยุทธ์การตลาดเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตและรองรับกับยุคดิจิตอล หัวใจของการทำตลาดอยู่ที่การสร้างและการสื่อสารเนื้อหาสาระให้กับสินค้า เพื่อดึงดูดใจกลุ่มเป้าหมายที่ต้องยอมรับว่ามีพฤติกรรมการบริโภคสื่อหลายชนิด แท็บเล็ต ดูทีวี ใช้สมาร์ทโฟนพร้อมกัน

“ซีรีส์ฮอร์โมนเกิดได้เพราะเนื้อหาสาระดี ไม่ได้เกี่ยวกับช่องทางการใช้สื่อ สะท้อนว่าช่องทางไม่ได้มีความสำคัญอีกต่อไป แค่เนื้อหาสาระดี คนก็พร้อมเปิดรับ” วรรณิภา กล่าว

ขณะที่ผลจากประชากรที่มีความหลากหลายเจเนอเรชัน ทำให้สินค้าหรือแบรนด์ต้องทำการตลาดที่ลงลึกมากขึ้น กลยุทธ์ไลฟ์สไตล์มาร์เก็ตติ้งจะเป็นเครื่องมือการตลาดที่สำคัญ แต่นักการตลาดต้องเข้าใจถึงไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคและออกแบบมาให้โดนใจ และการสื่อสารต้องเซ็กเมนต์ตามไลฟ์สไตล์ด้วย

การเกิดทีวีดิจิตอล ทำให้การวางแผนใช้สื่อของเจ้าของสินค้าเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่โฆษณาเฉพาะฟรีทีวี 6 ช่อง แต่จากนี้ต้องวางแผนถึง 48 ช่อง ซึ่งบริษัทสามารถเลือกช่องที่มีรายการเฉพาะเจาะจงหรือสอดคล้องแบรนด์และกลุ่มเป้าหมายได้ยิ่งขึ้น

ภาวิต จิตรกร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ แอ็ดเวอร์ไทซิ่ง กล่าวว่า ในการทำโฆษณาที่กำลังก้าวสู่ปี 2557 หัวใจสำคัญการทำเนื้อหาสาระโฆษณาว่าอะไรคือประเด็นที่สามารถจะเข้าถึงผู้บริโภคได้ และถึงกลับไปมองที่ช่องทางการโฆษณา

“การทำโฆษณาในไทยแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับต่างประเทศ คนไทยต้องการโฆษณาที่สร้างมูลค่า หรือว่าเป็นมากกว่าการสร้างการรับรู้ ต้องนำเสนอที่บันเทิง อาทิ ตลก สวย หล่อ ถึงจะดึงดูดใจผู้บริโภค ส่วนการทำโซเชียลมีเดียต้องเป็นมากกว่าแค่การสร้างแบรนด์ แต่ต้องขายสินค้าได้ด้วย” ภาวิต กล่าว

ทั้งนี้ การทำโฆษณาในยุคนี้ การสร้างการรับรู้เป็นเรื่องพื้นฐานหรือหน้าที่ของโฆษณาที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว แต่โจทย์ของโฆษณาและการสร้างแบรนด์จะทำอย่างไรให้กลายเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภครัก เพราะเป็นสิ่งที่ใช้เงินซื้อไม่ได้มากกว่า เช่น แอปเปิล เป็นแบรนด์ที่คนรัก แม้ว่าจะเปิดตัวสินค้าอะไรก็ได้รับการตอบรับที่ดีตลอด

อนุวัตร เฉลิมไชย ผู้อำนวยการแบรนด์ สำนักงานบริหารแบรนด์ เอสซีจี กล่าวว่า นักการตลาดต้องเข้าใจผู้บริโภคว่ามีความแตกต่างกัน เพราะการบริโภคสื่อของผู้บริโภคไม่เหมือนกันและมีความหลากหลายมากขึ้น ดังนั้นการสร้างสรรค์ยุทธศาสตร์การตลาดออกมา ต้องเจาะกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มให้ได้ ซึ่งการวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค แนวโน้มหรือทิศทางการตลาดยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะจะเป็นข้อมูลการตัดสินใจถึงการทำตลาดในอนาคตได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ซึ่งบริษัทได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการทำวิจัยและพัฒนาสินค้ายิ่งขึ้น

เวลานี้นักการตลาดไทยต้องผจญกับความท้าทายในหลายมิติ ทั้งการก้าวสู่โลกดิจิตอล การเปลี่ยนถ่ายประชากรของประเทศ จุดอ่อนของนักการตลาดไทยที่ต้องปรับตัว คือ การยอมรับความคิดเห็นของผู้ร่วมงานและพันธมิตรจากต่างประเทศมากขึ้น เพื่อรองรับเทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนไปไวกว่าที่คิด