posttoday

อียิปต์เดือดศก.ทรุดสะเทือนนำเข้า-ส่งออกไทย

20 สิงหาคม 2556

ความไม่สงบในอียิปต์ส่งผลให้ผู้นำเข้า-ผู้ส่งออกขาดความเชื่อมั่น ด้านทูตพาณิชย์ไคโรยังไม่กลับรอช่วยเหลือนักธุรกิจไทย

ความไม่สงบในอียิปต์ส่งผลให้ผู้นำเข้า-ผู้ส่งออกขาดความเชื่อมั่น ด้านทูตพาณิชย์ไคโรยังไม่กลับรอช่วยเหลือนักธุรกิจไทย

นางศรีรัตน์  รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(สคร.) ณ กรุงไคโร ถึงภาวะการค้าในประเทศอียิปต์ว่า การประท้วงที่บานปลายยังคงไม่มีท่าทีที่จะสงบ ส่งผลกระทบต่อการค้าและสถานการณ์การเงินของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจถดถอย ทำให้ต้นทุนด้านการค้าอียิปต์เพิ่มสูงขึ้นมาก ทั้งในแง่ด้านการเงินการธนาคาร อัตราแลกเปลี่ยนต่างประเทศ และความเชื่อมั่นของลูกค้า ประกอบกับมีแนวโน้มเหตุการณ์วุ่นวายในประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้คาดว่าการนำเข้าสินค้าของอียิปต์ในช่วงครึ่งปีหลังอาจจะชะลอตัวลงอีกจากที่ไตรมาสแรกลดลงเกือบ 10%

“กรมฯได้ให้แนวทางแก่ทูตพาณิชย์ ณ กรุงไคโรให้สังเกตการณ์และติดตามความเคลื่อนไหวของของสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด รวมถึงเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือและประสานงานให้กับนักธุรกิจไทยและคนไทยให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น  หากเหตุการณ์รุนแรงมากขึ้น ให้รีบออกจากอียิปต์โดยด่วน ซึ่งคาดว่าจะพร้อมกับเจ้าหน้าที่การทูตไทยกลุ่มท้ายๆ” นางศรีรัตน์ กล่าว

นางศรีรัตน์ กล่าวว่า สถานการณ์การประท้วงในอียิปต์คาดว่ายังคงไม่สามารถเข้าสู่ภาวะสงบโดยเร็ว และอาจส่งผลให้ผู้นำเข้าอียิปต์ยังคงชะลอตัวในการนำเข้าสินค้า ขณะที่ผู้ประกอบการไทยอาจขาดความเชื่อมั่นในเสถียรภาพการเมือง การชำระเงิน เพราะยังไม่มั่นใจในสถานการณ์เช่นกัน

สำหรับการค้าระหว่างไทยกับอียิปต์ในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ของปีนี้  ไทยส่งออกไปอียิปต์มีมุลค่า 459 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.7% สินค้าส่งออก 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบมูลค่า 98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น  17% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 36% ผลิตภัณฑ์ยาง 45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 4.8% เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ 34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.7% ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ  32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น  48%

สถานการณ์ทางการเมืองในอียิปต์ยังคงตรึงเครียดอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน 2556 เป็นต้นมา ผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดี มอร์ซี ยังคงมีการชุมนุมประท้วงในกรุงไคโรและเมืองต่างๆ โดยเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2556 ฝ่ายทหารและกองกำลังความมั่นคงภายใต้การควบคุมของรัฐบาลอียิปต์เข้าสลายม็อบผู้ประท้วงอาวุธปืนและแก๊สน้ำตา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ขณะที่รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน 1 เดือน

ทั้งนี้นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองในอียิปต์ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้น สถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำลงมาโดยตลอด โดยเฉพาะเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศได้ลดลงจาก 3.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2554 ลงเหลือประมาณ 1.39 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯในเดือนมิถุนายน 2556 แม้ว่าอียิปต์จะได้รับการช่วยเหลือทางด้านการเงินจากประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง แต่เป็นความช่วยเหลือในระยะสั้น ซึ่งไม่สามารถบรรเทาสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของอียิปต์ได้นาน

อย่างไรก็ตามคาดว่าสถานการณ์การแบ่งขั้วระหว่างฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลและฝ่ายสนับสนุนอดีตประธานาธิบดี มาร์ซี ยังคงมีต่อไปนานนับเดือน  ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมมั่นของนักธุรกิจไทย โดยเฉพาะด้านการลงทุนและการท่องเที่ยว ทำให้รายได้ที่จะไหลเข้าประเทศมีน้อยลงเรื่อยๆ