posttoday

คาดสิ้นปีSMEเจอพิษค่าแรงเจ๊ง8หมื่นราย

29 กรกฎาคม 2556

ม.ธุรกิจบัณฑิตย์เผยผลสำรวจ 6 เดือนค่าแรง300 พบผลกระทบทำให้สิ้นปีเอสเอ็มอีแจ๊ง 8 หมื่นราย

ม.ธุรกิจบัณฑิตย์เผยผลสำรวจ 6 เดือนค่าแรง300 พบผลกระทบทำให้สิ้นปีเอสเอ็มอีแจ๊ง 8 หมื่นราย

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยผลการวิจัยเรื่อง “6 เดือนค่าแรงขั้นต่ำ 300 SMEs ยังสู้ไหว?”ว่า สิ้นปีนี้คาดว่าจะมีเอสเอ็มอีต้องเลิกกิจการราว 8 หมื่นรายทั่วประเทศ จากช่วง 6 เดือนแรกของปี ได้ปิดกิจการจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ประมาณ 5-7 หมื่นรายแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจรายย่อย และธุรกิจขนาดเล็ก ที่จ้างงานไม่เกิน 50 คน ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต และบริการค้าปลีก เป็นหลัก เพราะมีต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 20% จากปัจจัยข้างต้น และจะมีผลต่อเนื่องไปถึง 6เดือนสุดท้ายของปีนี้

นอกจากนี้ การสำรวจเชิงลึกใน 4 จังหวัด คือ พะเยา ขอนแก่น อยุธยา และสงขลา พบว่า แม้แรงงานจะได้ค่าแรงเพิ่มเป็น 300 บาท แต่ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทั้งในกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม การขึ้นค่าเช่าบ้าน และค่าบริการต่างๆ ทำให้อำนาจซื้อลดลง โดย 6 เดือนที่ผ่านมา อำนาจซื้อเหลือเฉลี่ยราว 280-290 บาท และใน 18 เดือนนับจากนี้ กำลังซื้อจะลดเหลือต่ำกว่า 250 บาท

นายเกียรติอนันต์ กล่าวว่า ขอเสนอให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว ควบคู่ไปกับการบริหารความคาดหวังไปพร้อมกันด้วย เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจขณะนี้มีความบิดเบือน จึงควรปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศใน 3-5 ปีข้างหน้า ด้วยการเพิ่มผลผลิตในภาคอุตสาหกรรมให้ได้ปีละ 5-8% และเพิ่มผลผลิตภาคเอสเอ็มอีอีกปีละ 5-10% เพื่อให้รากฐานเศรษฐกิจในประเทศมีความแข็งแกร่ง

ด้านนายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) คาดว่า ครึ่งแรกปีนี้เศรษฐกิจการเกษตรจะขยายตัว 1.5-2.5 % ทำให้ทั้งปีจะขยายตัวไม่เกิน 2.5% แม้จะปรับลดเป้าหมายเหลือ 3.5% ก็ตาม โดยเดิมตั้งเป้าว่าปีนี้จะขยายตัวถึง 4.5-5.5%  สาเหตุจากปัญหาภัยแล้งที่กระทบต่อการปลูกพืชและการส่งออกกุ้งที่ลดลงจากโรคตายด่วน  โดยคาดว่าผลผลิตกุ้ง มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และข้าวนาปี จะฟื้นตัวช่วงปลายปี และมีราคาในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะจีน หากมีปัญหาจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของไทยอย่างมีนัยสำคัญ