posttoday

ห่วงค้าปลีกซบวอนรัฐเร่งกระตุ้นด่วน

25 กรกฎาคม 2556

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยชี้ค้าปลีกยังโตต่อเนื่อง แม้ภาพรวมชะลอตัวจนต้องลดเป้าหมายเหลือ 9% วอนภาครัฐหนุนค้าปลีกขยายตัวรับตลาด AEC

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยชี้ค้าปลีกยังโตต่อเนื่อง แม้ภาพรวมชะลอตัวจนต้องลดเป้าหมายเหลือ 9% วอนภาครัฐหนุนค้าปลีกขยายตัวรับตลาด AEC

น.ส.บุษบา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทย ในต้นปี 2556 ทุกหน่วยงานต่างก็ประเมินว่า GDP ทั้งปีน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 5.5-6.0 การบริโภคเติบโตร้อยละ 6.0 ฯลฯ สมาคมฯ  คาดว่า อุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งปี 2556 เติบโตไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมาหรือประมาณ 10-12% จากที่มีความเชื่อมั่นว่าอุปสงค์ภายในประเทศยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก โดยจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงกว่า 5-6 แสนล้านบาท นอกเหนือจากงบประมาณประจำปี น่าจะทำให้ GDP เติบโตสูงตามไปด้วย แต่การอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากเข้าระบบเศรษฐกิจกลับไม่ก่อให้เกิดผลทางเศรษฐกิจตามที่เคยคาดหมายไว้ มีผลต่ออุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งในครึ่งปีแรกต่ำกว่าที่คาดไว้  3-4% จากที่คาดการณ์ไว้ประมาณ 12%  มาอยู่ที่ 9% หรือมูลค่าการบริโภคหายไปกว่า 1.2 แสนล้าน หรือประมาณ 1-2% ของ GDP ในสัดส่วนของการบริโภคภายใน

"สมาคมผู้ค้าปลีกไทย มองแนวโน้มอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งปี 2556 เติบโต 9% ปรับตัวลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ จากกำลังซื้อที่ลดลง เนื่องจากเงินจับจ่ายของประชาชนถูกแบ่งไปใช้จ่ายกับการซื้อรถยนต์รวมถึงค่าใช้จ่ายต่อเนื่องจากการใช้รถยนต์" น.ส.บุษบา กล่าว

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ชี้ตัวเลข การบริโภคของภาคเอกชนลดลงต่อเนื่อง ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ที่มีการเติบโต 3.9% ซึ่งต่ำจากเป้าหมายที่มีการประมาณการว่าจะเติบโต 6% และการบริโภคภาคเอกชนลดลงต่อเนื่อง โดยในเดือนเมษายน มีการเติบโต 1.8% และหดตัว 0.2% ในเดือนพฤษภาคม ในส่วนของศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจจาก 4.3-5.3% เหลือ 3.8-4.3% โดยประเมินว่าธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจค้าปลีก รถยนต์ และ อสังหาริมทรัพย์ 

โดยทางสมาคมฯเห็นว่า รัฐบาลควรมีมาตรการเสริมออกมาดูแลเศรษฐกิจไทย นอกเหนือจากมาตรการทางการเงิน (อัตราดอกเบี้ย ) และ มาตรการทางการคลัง ( การลดหย่อนภาษี ) มากระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ซึ่งเชื่อว่าจะชะลอตัวทุก Sectors ยกเว้น การท่องเที่ยวและ การค้าชายแดน ที่ยังคงดีอยู่

"ภาคส่วนที่ได้ผลกระทบมากคือ ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ คอนวีเนี่ยนสโตร์ ดีพาร์ทเมนสโตร์ เนื่องจากการเติบโตที่ชะลอตัวลง โดยซุปเปอร์เซ็นเตอร์ขยายตัว 7% (ปี 2012 ขยายตัว 10%) คอนวีเนี่ยนสโตร์ขยายตัว 12% (ปี2012 ขยายตัว 18%) ส่วนดีพาร์ทเมนสโตร์ ขยายตัวจาก 7.5%  (ปี 2012 ขยายตัว 12%) และเนื่องจากซุปเปอร์เซ็นเตอร์และคอนวีเนี่ยนสโตร์นั้นมียอดขายสูง เมื่อมีการชะลอตัว จึงส่งผลกระทบอย่างมากต่อยอดการขยายตัวโดยรวมของธุรกิจค้าปลีก" น.ส.บุษบา กล่าว

ในครึ่งปีหลัง สมาคมฯ เชื่อว่า แม้สภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังมีทิศทางชะลอตัว ซึ่งเป็นผลมาจากหนี้ครัวเรือนที่มีตัวเลขสูงขึ้น แต่ธุรกิจค้าปลีกจะยังคงสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากปัจจัยสนับสนุน อาทิ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ขยายตัวในทิศทางบวก และมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้าประเทศไทยกว่า 12 ล้านคนในครึ่งปีแรก ซึ่งสูงขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับเมื่อปีที่ผ่านมาและจะมีทิศทางเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง อีกทั้งภาคเอกชนต่างๆร่วมกันจัดกิจกรรมทางการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายและบรรยากาศการจับจ่าย และอาจมีเพิ่มแคมเปญส่งเสริมการขายขึ้นอีกในปลายไตรมาสที่ 3 และในไตรมาสที่ 4 ในส่วนของแรงกดดันในช่วงครึ่งปีหลังนี้ คือ หนี้ครัวเรือน ทำให้ภาคครัวเรือนจะเริ่มมีการตัดลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวัน ในขณะเดียวกัน จำนวนนักท่องเที่ยวคนไทยที่เดินทางออกนอกประเทศครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นถึง 17.7% และอาจเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง ดังนั้นหากสามารถดึงกำลังซื้อกลับมาจับจ่ายในประเทศได้จะส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและภาคค้าปลีกไปพร้อมกัน

ทั้งนี้ สมาคมมีข้อเสนอมาตรการกระตุ้นอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่ง ปี 2556 ถึงรัฐบาล ประกอบด้วย

1.     รัฐบาลต้องกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยการตรึงราคาสินค้าที่จำเป็น นับตั้งแต่ หมวดอาหาร ค่าโดยสาร ค่าเชื้อเพลิง

2.     รัฐบาลควรให้การสนับสนุนการขยายตัวของภาคค้าปลีกอย่างชัดเจน เนื่องจากภาคค้าปลีกเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แม้มีความเข้มแข็งด้วยการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง แต่หากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพิ่มเติมจะทำให้ขยายตัวทั้งในและต่างประเทศได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างมาก

3.     อยากให้รัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนผู้ค้าปลีกไทยไปลงทุนในอาเชี่ยนอย่างชัดเจน เพราะ การที่ผู้ค้าปลีกไทยสามารถไปขยายธุรกิจในอาเชี่ยน นั่นหมายถึง จะมีผู้ประกอบซัพพลายเออร์ตามไปขยายธุรกิจด้วยเป็นพันๆราย

4.     รัฐบาลกำหนดให้ BOI เป็นศูนย์กลางประสานการลงทุนในอาเชี่ยน มีการเจรจาแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล 
(G to G) เพื่อสนับสนุนภาคค้าปลีกในการบุกตลาด AEC ในลักษณะ one stop service แบบ JETRO   
ของญี่ปุ่น

5.     รัฐต้องมีมาตรการส่งเสริมการค้าชายแดนอย่างชัดเจน โดยพิจารณาผ่อนผันการเปิดด่านต่างๆ เพิ่มด่านและอำนวยความสะดวก

6.     รัฐต้องหามาตรการสร้างความเชื่อมั่นเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศในการจับจ่ายและการลงทุน

7.     โครงการบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 350,000 ล้านบาท หากได้รับการอนุมัติวงเงินโดยเร็วจะส่งผลให้เงินเข้าสู่ระบบให้เสร็จโดยเร็ว

8.     รัฐบาลควรเปิดช่องให้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs Bank) เข้ามาช่วยดูแลกลุ่มธุรกิจ SME ในลักษณะ Fast Track เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง

9.     มาตรการกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวปีนี้ ซึ่งคาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศกว่า 26 ล้านคน  สมาคมฯ ขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้า Luxury Brand (Apparel, leather and footwear, Costmetic and Fragrance ) ลงมาในระดับร้อยละ 0-5  เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายช้อปปิ้งของนักท่องเที่ยวต่างประเทศให้เพิ่มขึ้น และเพื่อจูงใจให้นักช้อปปิ้งไทยจับจ่ายภายในประเทศแทนที่จะนำเงินตราไปใช้จ่ายยังต่างประเทศ จากรายงานของ Global Blue คนไทยไปจับจ่ายสินค้า Duty Free ในภาคพื้นยุโรป เพิ่มขึ้นร้อยละ 56 ในเดือนมกราคม ร้อยละ 18 ในเดือนกุมภาพันธ์ และร้อยละ 38 ในเดือนมีนาคม ซึ่งจัดเป็น อันดับ 6 รองมา จากนักช้อปชาว จีน รัสเซีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น อเมริกา