posttoday

เร่งปราบมาเฟียท่องเที่ยวทำภาพลักษณ์ไทยเสีย

16 กรกฎาคม 2556

สมศักย์ผนึกดีเอสไอปราบมาเฟียท้องถิ่น นำร่องแท็กซี่ป้ายดำภูเก็ต พัทยา พร้อมสอบต่างชาตินอมินีธุรกิจท่องเที่ยว ล้างภาพลักษณ์ท่องเที่ยวไทยติดลบ

สมศักย์ผนึกดีเอสไอปราบมาเฟียท้องถิ่น นำร่องแท็กซี่ป้ายดำภูเก็ต พัทยา พร้อมสอบต่างชาตินอมินีธุรกิจท่องเที่ยว ล้างภาพลักษณ์ท่องเที่ยวไทยติดลบ

นายสมศักย์ ภูรีศรีศักย์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ได้ยื่นหนังสือถึง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เร่งปราบปรามสอบสวนกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นในแหล่งท่องเที่ยวหลัก อย่างภูเก็ต พัทยา โดยนำร่องแท็กซี่ป้ายดำ จ.ภูเก็ต เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่านักท่องเที่ยวถูกเอารัดเอาเปรียบเรื่องค่าโดยสาร และข่มขู่นักท่องเที่ยวมาอย่างยาวนาน ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยติดลบในสายตาชาวต่างชาติ

นอกจากนี้ ต้องการให้ดีเอสไอเร่งตรวจสอบชาวต่างชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวไทย ในลักษณะนอมินี (สวมสิทธิ) การทำธุรกิจอย่างละเอียด การตรวจสอบเส้นทางการเงิน เพื่อเอาผิดผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย เพราะปัญหาดังกล่าวได้สร้างความเสียหายต่อภาพรวมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ด้านภาพลักษณ์ และรายได้ทางการท่องเที่ยวที่ไม่เกิดการหมุนเวียนภายในประเทศอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

สาเหตุที่กระทรวงฯทำหนังสือให้ดีเอสไอ เป็นผู้ดำเนินการด้านกฎหมายในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนทางกฎหมายคดีที่มีความผิดร้ายแรงทั้งคดีแพ่งและอาญา มีบทลงโทษที่รุนแรงมากกว่าการสืบสวนสอบสวนของโรงพักท้องที่ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)

“ปัจจุบันเกิดปัญหามาเฟียข่มขู่นักท่องเที่ยวเกิดขึ้น หากเรื่องนี้มีรุนแรงมากขึ้นจนทำให้สถานทูตของแต่ละประเทศแบล็กลิสต์ประเทศไทย อาจทำให้ท่องเที่ยวไทยเสียหายในระยะยาวได้ จำเป็นต้องหาแนวทางป้องกันแก้ไขและจริงจังกับปัญหาที่เกิดขึ้น” นายสมศักย์ กล่าว

นอกจากนี้ปัญหาการหลอกลวงนักท่องเที่ยวที่เกิดขึ้น ยอมรับว่า บางส่วนเกิดจากการบริหารจัดการที่มีช่องว่างเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการกระทำความผิด เช่น กรณีล่าสุดบริษัทยู แอร์ไลน์ ซึ่งมีนักการเมืองเป็นเจ้าของกิจการได้เกิดปัญหาการทิ้งนักท่องเที่ยวจนเกิดเรื่องฟ้องร้องเกิดขึ้น เป็นต้น

นายสมศักย์ กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และกระทรวงมหาดไทย จะประสานการทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวอย่างใกล้ชิด ขณะที่ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ เช่น สปีดโบ๊ท เตรียมทำงานร่วมกับกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เพื่อออกกฎระเบียบการติดตั้งจีพีเอสระบบติดตาม เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับปัญหาเรือสปีดโบ๊ท เช่น การเฉี่ยวชน

แหล่งข่าวจากวงการท่องเที่ยว เปิดเผยว่า การใช้อำนาจดีเอสไอเข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาอิทธิพลท้องถิ่นในครั้งนี้ เป็นเพียงการใช้เครื่องมือใหม่ในการแก้ไขปัญหาของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ซึ่งมองว่าแนวทางดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุและไม่สามารถปราบปรามได้ในระยะยาว เป็นเพียงจุดพลุการแก้ปัญหาชั่วคราวเท่านั้น

“รับไม่ควรใช้ยาแรงในการแก้ไขปัญหามาเฟียท้องถิ่น แต่ต้องนำปัญหาและบทเรียนเก่าๆ มารวบรวมสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมนำผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมาร่วมบูรณาการแก้ไขปัญหา เพราะเรื่องมาเฟียต้องยอมรับว่าบางส่วนเกิดจากคนในท้องถิ่นที่ใช้ชีวิตในแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆมาอย่างยาวนาน” แหล่งข่าว กล่าว