posttoday

ทูตไทยยันปัญหาข้าวพม่าสวมสิทธิน้อย

16 กรกฎาคม 2556

“พิษณุ”ย้ำปัญหาลอบนำเข้าข้าวพม่าสวมสิทธิจำนำไร้ผลกระทบ ญี่ปุ่นชะลอลงทุนทวายแต่ไม่ทิ้ง

“พิษณุ”ย้ำปัญหาลอบนำเข้าข้าวพม่าสวมสิทธิจำนำไร้ผลกระทบ ญี่ปุ่นชะลอลงทุนทวายแต่ไม่ทิ้ง 

นายพิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ เปิดเผยว่า ประเด็นเรื่องการซื้อข้าวพม่าเพื่อนำมาสวมสิทธิในโครงการรับจำนำข้าวของไทย ถือว่ายังมีน้อยเมื่อเทียบกับทางกัมพูชา และเชื่อว่าเรื่องดังกล่างคงไม่กระทบอะไร เพราะกรณีข้าวสวมสิทธิไม่ได้มีปัญหามากขนาดนั้น

เนื่องจาก 1.โปรดักส์ชั่นข้าวในพม่าไม่ได้มีมากมาย และไม่มีการพัฒนาด้านการเกษตรมายาวนาน 2.ข้าวพม่ามีสายพันธุ์แตกต่างจากข้าวไทย 3.ข้าวดีๆก็จะเป็นข้าวที่มีชื่อเสียง ซึ่งอยู่ในความต้องการของต่างประเทศ หรือ ข้าวออแกนิกส์ เพราะไม่ได้ใช้วิธีการปลูกด้วยการพึ่งสารเคมี จึงทำราคาได้ดี

และ 4.ผลผลิตการเกษตรพม่า หลังจากปฏิรูปแล้วเปิดประเทศ พม่าได้คืนหมด โดยเฉพาะ GSP MFN ดังนั้น ผลผลิตการเกษตรของพม่า มันจะไม่มีปัญหาในเรื่องของการขาย และนานาชาติก็จะช่วยซื้อ และส่วนตัวคิดว่าไม่น่ามีปัญหาร้ายแรงเกี่ยวข้องกับการลักลอบนำเข้าจากฝั่งพม่า

ส่วนเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายที่ทางญี่ปุ่นชะลอการลงทุนนั้น ถือเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เนื่องจากโครงการพัฒนาในพม่ามีหลายโครงการ ทั้งระดับเมกะโปรเจ็กต์ที่จะมีผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจพม่าอย่างน้อยมี 3 โครงการ 1.จ๊อกเพียว 2.ตินละวา และ3.ทวาย

ทั้งนี้ โครงการตินละวาออกแบบสำหรับเพื่อ GREEN AND CLEAN INDUSTRY เพราะอยู่ในเมืองย่างกุ้ง ห่างไปทางตอนใต้ ประมาณ 26 กม. ดังนั้น โครงการดังกล่าวจะมีใครในโลกที่สามารถทำได้ก็มีเพียงญี่ปุ่น อีกทั้ง ยังเป็นโครงการที่ไม่ใหญ่ เพียงแค่ 1 ใน 10 ของโครงการทวาย และไม่ได้เป็นโครงการที่เริ่มจากศูนย์ เพราะมีน้ำ ถนน

“โครงการดังกล่าวไม่ยากเมื่อเทียบกับทวาย ใช้เม็ดเงินน้อยมาก อีกทั้ง เป็นโครงการที่ญี่ปุ่นมีความชำนาญ ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลที่อธิบายในตัวมันเองว่าทำไมญี่ปุ่นถึงได้ลงทุนในโครงการตินละวา แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้สนใจหรือทิ้งทวาย แต่โครงการทวายไม่ได้มีความสำคัญเฉพาะเศรษฐกิจแค่นั้น แต่มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ทุกประเทศ”นายพิษณุ กล่าว

อย่างไรก็ดี โครงการทวายญี่ปุ่นไม่ลงทุน แต่ยังมีอีกหลายคนต้องการ เช่น จีน เกาหลี เพราะเป็นโครงการยุทธศาสตร์ และถือเป็นครั้งแรกของ LAND SOUTHEAST ASIA ทางบกเชื่อม 2 ฝั่งมหาสมทุร และเป็นโครงการจำเป็น ฉะนั้น ต้องคิดดูให้ดีว่าเป็นโครงการยุทธศาสตร์ แล้วญี่ปุ่นจะทิ้งหรือไม่ ทั้งที่พม่าเป็นคนเลือกให้ญี่ปุ่นเข้ามา ดังนั้น เชื่อว่าไม่ทิ้งแน่นอน เพียงแต่เวลาต้องไปให้ตินละวาก่อน เพราะผลประโยชน์ได้คืนเร็ว ประมาณ 5-8 ปี

นายพิษณุ กล่าวต่อว่า โครงการทวายใหญ่ 10 เท่า มากกว่า Eastern Seaboard ซึ่งการพัฒนา Eastern Seaboard ใช้เวลา 13 ปี กว่าจะตั้งตัวติด ดังนั้น โครงการทวายใหญ่กว่า Eastern Seaboard 10 เท่า ไม่ได้แปลว่าเป็น 100 ปี แต่ต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี จึงเป็นเหตุผล

สำหรับมูลค่าการค้าระหว่างไทยและพม่า อยู่ที่ 4,600 ล้านยูเอสดอลล่าร์ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 40% และมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น เนื่องจาก 1.การปฏิรูปทางเศรษฐกิจของพม่าเติบโตและคนมีอำนาจการซื้อสูงขึ้น 2.ความต้องการสินค้าของพม่ามีความหลากหลายมากขึ้น ดังนั้น สินค้าที่ไทยที่เคยส่งเป็นพื้นฐาน ก็จะส่งได้มากขึ้น ซึ่งไทยต้องเตรียมตัวและติดตามการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด เพราะเปลี่ยนทุกวันและเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นตลอดเวลา

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันไทยได้เปิดด่านชายแดนถาวรรวม 4 จุด โดยที่เปิดใหม่เป็นด่านบ้านน้ำพุร้อน-บ้านทีกี้ เพื่อรองรับโครงการทวาย ส่วนด่านเดิม คือ แม่สอด-เมียวดี แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก และระนอง-เกาะสอง ส่วนด่านสังขละ-ด่านเจดีย์ เป็นเพียงจุดผ่อนปรน ส่วนแนวโน้มเปิดเป็นด่านถาวรนั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมของทั้ง 2 ฝ่ายในการเคลียร์ปัญหาต่างๆ

“เรื่องเขตแดนไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเปิดด่าน อย่างบ้านพุน้ำร้อน-บ้านทีกี้ เรามีกระบวนการทำงาน Detail Survey ไม่ได้ปักปัน แต่เก็บสภาพรายละเอียดภูมิประเทศ” เอกอัครราชทูตไทย กล่าว

อย่างไรก็ดี เมื่อถามว่า สินค้าใหม่ที่ไทยจะส่งออกได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากของเดิมเป็นอะไร นายพิษณุ กล่าวว่า วันนี้ (16ก.ค.) ถ้าได้เข้าไปในพม่า เมื่อเทียบกับเมื่อวาน ต่างกันสิ้นเชิง เพราะความต้องการพม่าหลากหลาย เห็นได้จากป้ายโฆษณาตามสี่แยก ที่อดีตมีแต่โฆษณาร้านเพชร ปัจจุบันมีหมด ทั้งคอนเสิร์ต นักพูด อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ โดยเฉพาะธุรกิจบิวตี้คลินิกชื่อดังของไทยเข้าไปเปิดและดีมาก ซึ่งสะท้อนขีดความสามารถเศรษฐกิจของสังคม รสนิยม

เพราะฉะนั้น หลังจากนี้มั่นใจได้ว่า การเมืองในพม่ายังรักษาสมดุลได้ การพัฒนาต่อไปได้ เศรษฐกิจก็จะเจริญเติบโตต่อไป ความต้องการเรื่องสินค้าและบริการก็จะมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหมายถึงโอกาสของประเทศไทย

ส่วนคลิปเสียงที่ปรากฎเป็นข่าวนั้น ถือว่าไม่มีปัญหา เพราะนโยบายด้านต่างประเทศของพม่าปัจจุบัน นับว่าเป็นวิธีการโดดเด่นแตกต่างจากในอดีตสิ้นเชิง เนื่องจากพล.อ.เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่า ประกาศชัดเจนถึวความเป็นประชาธิปไตยและนโยบายที่มุ่งส่งเสริมให้ชาวพม่ามีความเป็นอยู่ดีขึ้นและมีอนาคต ซึ่งพม่าแยกแยะอะไรที่เป็นประโยชน์ อะไรเป็นเรื่องการเมืองในประเทศอื่น ก็จะไม่เอามาปนเป ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-พม่าดีมาก