posttoday

บขส.ทุ่ม3พันล.ย้ายหมอชิต

13 กรกฎาคม 2556

บ.ข.ส.จ่อย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ คาดศึกษา 90 วันรู้ผล ทุ่ม 3,000 ล้าน ยกระดับสถานีเท่าสนามบิน

บ.ข.ส.จ่อย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ คาดศึกษา 90 วันรู้ผล ทุ่ม 3,000 ล้าน ยกระดับสถานีเท่าสนามบิน

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง (บ.ข.ส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการ บ.ข.ส. ที่มีนายสมชัย ศิริวัฒนโชค อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด เพื่อเตรียมจัดหาพื้นที่ย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (หมอชิต) ไปที่แห่งใหม่ คณะกรรมการประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ บ.ข.ส. สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ขบ. เป็นต้น โดยใช้ระยะเวลาการศึกษา 90 วัน หรือภายในสิ้นเดือน ก.ย. 2556

เบื้องต้นการจัดพื้นที่เพื่อก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพแห่งใหม่จะใช้ข้อมูลพื้นฐานเดิมที่ บ.ข.ส.ได้ว่าจ้าง|ให้ศึกษาไปแล้ว โดยคณะกรรมการจะศึกษารายละเอียดของพื้นที่ 3 แห่ง คือ ดอนเมือง เมืองทองธานี และรังสิตว่าพื้นที่ใดมีความเหมาะสมมากที่สุดซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนสำหรับการพัฒนาสถานีขนส่งแห่งใหม่ประมาณ 3,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ มีกรอบระยะเวลาการดำเนินการประมาณ 3-5 ปี โดยหลังจากขออนุมัติตามขั้นตอนแล้ว คาดว่าจะเริ่มโครงการได้ในปี 2558 และใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี หรือแล้วเสร็จในปี 2561

“การลงทุนก่อสร้างสถานีขนส่งแห่งใหม่อาจมีการพิจารณาเรื่องการร่วมทุนกับเอกชน ซึ่งจะต้องหารือในรายละเอียด โดยสถานีขนส่งแห่งใหม่คาดว่าจะต้องใช้พื้นที่ในการดำเนินการประมาณ 120-150 ไร่ โดยจะจัดทำเป็นระบบปิดมีความปลอดภัยเทียบเท่ากับสนามบิน ส่วนพื้นที่สถานีขนส่งกรุงเทพปัจจุบันที่เขตจตุจักรนั้น จะขอเช่าพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ เพื่อใช้สำหรับให้บริการรถ บ.ข.ส.ที่วิ่งระยะสั้น” นายวุฒิชาติ กล่าว

กรณีที่สถานีขนส่งแห่งใหม่ต้องใช้พื้นที่ 120-150 ไร่นั้น นายวุฒิชาติให้เหตุผลว่า เนื่องจาก บ.ข.ส.จะต้องวางแผนรองรับผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีผู้ใช้บริการประมาณ 30 ล้านคนต่อปี และคาดว่าในปี 2558 เมื่อเปิดประชาคมอาเซียนจะมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านคนต่อปี

ด้านนายสมชัย กล่าวว่า บ.ข.ส.มีนโยบายชัดเจนว่าจะต้องย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพแห่งใหม่ไปที่อื่น โดยจะต้องอยู่ในบริเวณที่ใกล้เคียงหรือเชื่อมต่อ กับระบบขนส่งมวลชนทางราง เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทางต่อรถโดยสารให้แก่ผู้โดยสาร แต่จะเป็นที่ใดนั้น ยังเป็นเรื่องที่คณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ต้องเข้าไปดูแลศึกษาว่าสถานที่ใดมีความเหมาะสมให้ความสะดวกดังกล่าวได้มากที่สุด

สำหรับผลการดำเนินการของ บ.ข.ส. ในปีงบประมาณ 2555 (1 ต.ค. 2554-30 ก.ย. 2555) บริษัทมีกำไรสุทธิ 192 ล้านบาท สูงกว่าปีที่ผ่านมา 68 ล้านบาท หรือคิดเป็น 54.87% โดยเป็นรายได้จากการเดินรถจำนวน 3,526 ล้านบาท ขณะที่รายได้ในปีงบประมาณ 2556 คาดว่าจะมีกำไรประมาณ 200 ล้านบาท